5 กรกฎาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก พบว่าขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2566 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-25 (1 มกราคม - 28 มิถุนายน 2566) มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 41.37 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 23 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งพบผู้ป่วย 9,736 ราย อัตราป่วย 17.46 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 7 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตสะสมพบทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่
กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายนพบผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,500 - 2,400 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1-3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง ตามลำดับ
เป็นแล้วเป็นได้อีก
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีความเชื่อว่าเมื่อเคยป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว หากป่วยอีกอาการจะไม่รุนแรงนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละปีสายพันธุ์ที่ระบาดอาจแตกต่างกัน การติดเชื้อครั้งแรกอาการอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่การติดเชื้อครั้งที่สอง อาจมีอาการรุนแรงขึ้นในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกขณะนี้ ยังไม่ได้นำมาใช้ในการป้องกันโรคเป็นหลัก แม้ในการทดลองจะได้ผลดีในบางสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนในบางคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะเหมือนเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง หรือคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออกอาจจะทำให้อาการรุนแรง
ป้องกันย่อมดีที่สุด
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยได้กำชับให้ทุกเขตสุขภาพกำกับติดตามการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ป่วยเสียชีวิตและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานได้แจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน วัด ศาสนสถาน ซึ่งพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง และให้ อปท. สนับสนุนทรัพยากร สำหรับประชาชน ขอให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย, เก็บขยะและเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หรือใส่ทรายฆ่าลูกน้ำยุงลาย ซึ่งป้องกันได้ทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ซิกา รวมทั้งป้องกันการถูกยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทายาป้องกันยุง
กรมควบคุมโรคระดมกำลังป้องกัน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้เพิ่มกลยุทธ์ เพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศ เน้นการรณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรคเพื่อเปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง อีกทั้งผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก
ล่าสุดผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีภาครัฐ ร่วมควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยความร่วมมือของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มป่วยสูงสุด
นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนแล้ว การวินิจฉัยที่รวดเร็วยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น
คนป่วยห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบมีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยมากกว่า 2 วัน ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที และห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟิแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดแก้ปวด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต พร้อมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน โดยขอให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
กรุงเทพมหานครเร่งมาตรการเชิงรุก
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 รวมถึงมาตรการเชิงรุกของกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบ ป้องกัน และเข้าควบคุมโรคอย่างรวดเร็วเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก ว่า สำนักอนามัยได้ร่วมมือกับสำนักงานเขต ในการพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกทั้งประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย สถานศึกษา ศาสนสถาน ภายในชุมชน และสถานที่ราชการ
กิจกรรม ได้แก่ การดำเนินการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนี้สำนักอนามัยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรม เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อให้ครูและนักเรียนตัวแทนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถป้องกันได้ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้ กรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออกด้วยการเฝ้าระวังยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. หรือมาตรการ 3 เก็บ ดังนี้
มาตรการ 5 ป. ได้แก่
1. ปิด ปิดหรือคว่ำภาชนะเพื่อป้องกันยุงไข่
2. เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ
3. ปล่อย ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย
4. ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง
5. ปฏิบัติ ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่
1. เก็บบ้านไม่ให้รก
2. เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง เป็นต้น
พร้อมกันนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เช่น สื่อมัลติมีเดีย แอปพลิเคชัน หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนังควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและให้ทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และให้หลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น โดยสำนักอนามัยได้แจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้กับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งมีการอบรมพัฒนาความรู้และจัดการอบรมซ้อมแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที