เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ อย. ลงพื้นที่สืบสวนหาแหล่งกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดชัยนาท, อ่างทอง และสุพรรณบุรี พบและยึด อายัด ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงจีน ยี่ห้อ Goldeer และ Laojun (รูปเด็กอ่อน) รวมกว่า 14,774 กล่อง ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ เบื้องต้นสอบสวนปากคำเจ้าของร้านค้าส่งทั้ง 3 ร้าน รับว่าได้ซื้อมาจากผู้ขายชาวจีนและคนไทย ไม่ทราบชื่อสกุลจริง ไม่ระบุบริษัทนำเข้า หรือผู้ผลิต ซึ่งเชื่อว่าผลิตในประเทศไทย ในราคากล่องประมาณละ 12 บาท ราคาขายหน้าร้านกล่องละ 18 - 20 บาท จึงได้ตรวจยึดไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
จากการสืบสวนขยายผลหาแหล่งผลิตพบว่า เมื่อเดือน เม.ย.66 มีโรงงานผลิตยาจุดกันยุงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่เคยผลิตยาจุดกันยุงยี่ห้อหนึ่ง ที่ได้รับเลขผลิตภัณฑ์ถูกต้อง แต่ผลการตรวจสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ผสมอยู่ และอาจเข้าข่ายผลิตยาจุดกันยุงยี่ห้อจีนที่ตรวจยึดได้จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดข้างต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ อย. บูรณาการเข้าค้นตรวจสอบและยึดอายัดของกลาง พบว่าขณะเข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าวกำลังผลิตยาจุดกันยุง ยี่ห้อ Goldeer กล่องสีฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ โดยการอบสารเคมีและบรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องพร้อมจำหน่าย และมียาจุดกันยุงบรรจุลังกระดาษตราเสือ กล่องสีแดง ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ บรรทุกใส่รถกระบะเตรียมนำไปส่งลูกค้าอยู่ในขณะเข้าทำการตรวจค้น สอบสวนปากคำนางณัธวรรณ สงวนนามสกุล ให้การว่า ได้ทำการสั่งซื้อยาจุดกันยุงชนิดขดสีดำจากประเทศจีน นำเข้ามาเพื่ออบสารเคมีที่ใช้ไล่ยุงจริง โดยสารเคมีที่ใช้อบยาจุดกันยุงไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าเอง และไม่ได้ขออนุญาตผลิตเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด จากนั้นได้นำมาบรรจุในกล่องผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายหลายยี่ห้อ (ใช้ขดยาจุดกันยุงสีดำชนิดเดียวกันที่ผลิตออกมาบรรจุ) ได้แก่
1. ยาจุดกันยุงตรา Goldeer กล่องสีฟ้า จำนวน 4,826 กล่อง
2. ยาจุดกันยุงตรา Laojun (รูปเด็กอ่อน) จำนวน 9,555 กล่อง
3. ยาจุดกันยุงตรา เสือ กล่องสีแดง จำนวน 13,440 กล่อง
4. ยาจุดกันยุงตรา สิงโต กล่องสีฟ้า จำนวน 3,811 กล่อง
5. ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีน้ำเงิน จำนวน 50 กล่อง
6. ยาจุดกันยุงตรา ริชเนส กล่องสีเขียว จำนวน 120 กล่อง
7. ขดยาจุดกันยุงเปล่ายังไม่บรรจุกล่องยี่ห้อผลิตภัณฑ์ จำนวน 180,720 กล่อง
รวมของกลางที่ตรวจยึดและอายัด 7 รายการ จำนวน 212,522 กล่อง โดยของกลางที่ตรวจยึดและอายัดรายการที่ 1 - 3 เป็นผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงที่ไม่มีเลข อย. และไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ในส่วนของของกลางรายการที่ 2 พบว่าด้านหลังกล่องผลิตภัณฑ์มีล๊อตการผลิตระบุวันผลิตและหมดอายุ “20230701/20260701” และตัวหนังสือภาษาไทย “ผลิตภัณฑ์นี้เป็นของแท้” ระบุตรงกับของกลางที่ตรวจยึดได้ที่จังหวัดชัยนาทก่อนหน้านี้จริง จึงเชื่อได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายให้กับร้านค้าต่าง ๆ