วันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและน่าอิ่มเอมหัวใจที่สุดในฐานะแม่ผู้ให้กำเนิด แต่หากลูกน้อยคลอดด้วยอายุครรภ์ก่อนกำหนด อาจสร้างความวิตกกังวลใจไม่น้อยเพราะมีอุปสรรคมากมายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานกว่าเด็กคนอื่นๆ เพื่อรอให้ร่างกายสมบูรณ์เพียงพอ ไปจนถึงด้านพัฒนาการที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นวันทารกคลอดก่อนกำหนดโลก หรือ ‘World Prematurity Day’ เพื่อให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครอง ได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนด และสามารถเตรียมพร้อมรับมือในการดูแลทารกที่คลอดกำหนดให้เติบโตอย่างปลอดภัย มีพัฒนาการสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์
รู้จัก “ภาวะคลอดก่อนกำหนด” และปัจจัยเสี่ยง
การคลอดก่อนกำหนด คือภาวะที่เด็กเกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ (หรือประมาณ 8 เดือน)1 โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่ามีทารกถึง 13.4 ล้านคนทั่วโลกที่เกิดก่อนกำหนดในปี 20201 และสำหรับประเทศไทย พบอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนดเฉลี่ยประมาณ 8-12% หรือราว 80,000 รายต่อปี 2
ภาวะคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนและมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่ปัจจัยบางประการอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว1,3 เช่น ผู้เป็นแม่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด การตั้งครรภ์แฝด (แฝดคู่ แฝดสาม ฯลฯ)4 หรือความเสี่ยงจากโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ไปจนถึงภาวะครรภ์เป็นพิษจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะหรือเยื่อหุ้มรก หรือจากภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ เป็นต้น
ทารกคลอดก่อนกำหนดกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
จากการประมาณการขององค์การอนามัยโลกพบว่า ภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก1 โดยภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารก5 เนื่องจากอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์3,6,7 เด็กกลุ่มนี้จึงเปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่า เช่น ภาวะหายใจลำบาก ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ ได้ง่ายและมีอาการรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์6,7,8,9
หนึ่งในเชื้อไวรัสที่มักก่อโรคในเด็กเล็ก คือ เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตามฤดูกาลที่แพร่ระบาดในกว่า 90% ของเด็กช่วงวัยสองปีแรก และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กทั่วโลก11,12 นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลกยังได้รายงานว่า ไวรัสชนิดนี้มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า 60% ในเด็ก10 และถึงแม้อาการส่วนใหญ่ของ RSV จะไม่รุนแรง ลักษณะคล้ายหวัดทั่วไป มีไข้ ไอ และคัดจมูก แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ไวรัส RSV ถือเป็นหนึ่งในไวรัสตัวร้ายที่น่ากังวล เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าหากได้รับเชื้อ11
เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนด
รายงานขององค์การอนามัยโลกได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยพบข้อมูลทารกคลอดก่อนกำหนดมากกว่า 1 ใน 10 คนทุกปี1 อย่างไรก็ตาม หลายคนยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนดอยู่ เช่น มีการตีพิมพ์รายงานที่ระบุว่า “แม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ในเดือนพฤษภาคมจะมีแนวโน้มการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าถึง 10%” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่พบความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างช่วงเวลาที่เกิดการปฏิสนธิกับภาวะคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด13
อีกทั้งยังพบความเชื่อที่สนับสนุนการคลอดก่อนกำหนด สะท้อนจากสถิติคำค้นหาที่พบมากที่สุดคำถามหนึ่งเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนดว่า "ทำไมการคลอดลูกที่อายุครรภ์ 7 เดือน ถึงดีกว่าตอน 8 เดือน?” ซึ่งล้วนเป็นความเข้าใจที่ผิดและส่งผลกระทบต่อทารกโดยตรง เพราะตามหลักการแพทย์แล้ว ยิ่งทารกเกิดเร็วกว่ากำหนดเท่าไร ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การมีอายุครรภ์ที่ครบกำหนดหรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป คืออายุครรภ์ที่ปลอดภัยและดีกับทารกมากที่สุด6
นอกจากนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่าการคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะที่ร้ายแรง แต่ที่จริงแล้ว มีเด็กคลอดก่อนกำหนดอีกจำนวนมากที่สามารถเติบโตและพัฒนาร่างกายได้อย่างสมบูรณ์หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม6 ดังนั้น เพื่อขจัดความสับสนและหลีกเลี่ยงชุดข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผู้ปกครองที่มีคำถามหรือข้อกังวล ควรขอคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น การปรึกษากุมารแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง5
การดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด
แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดหลายคนสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่เปราะบางและเติบโตขึ้นได้อย่างปลอดภัย หากได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนี้
1. ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ระหว่างที่ทารกอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายกำลังพัฒนา ทั้งขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือเมื่อได้กลับบ้านแล้ว ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด คอยสังเกตและรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือหากพบความผิดปกติใดๆ ต้องรีบแจ้งแพทย์โดยทันที
2. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นมแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกเนื่องจากมีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ และอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและอวัยวะที่สำคัญ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง13 รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและป้องกันอาการป่วยจากโรคต่างๆ ที่พบบ่อยในเด็ก14 ดังนั้น เมื่อได้รับอนุญาตจากแพทย์แล้ว ควรพยายามให้นมแม่กับลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีธรรมชาติหรือผ่านขวดนม ทั้งนี้ หากหลังคลอดแล้วน้ำนมยังไม่มาหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ ธนาคารนมแม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือสามารถใช้นมผงสูตรสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับทารกได้เช่นกัน13
3. ระมัดระวังการติดเชื้อ
หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลของเด็กกลุ่มนี้คือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญกับการปกป้องทารกจากเชื้อก่อโรคต่างๆ รวมถึงไวรัสอย่าง RSV อย่างเคร่งครัด15 ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสลูก รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงการให้ลูกเข้ารับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามแนวทางและคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4. เตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อยกลับบ้านด้วยพลังบวก
แม้ลูกน้อยจะยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด หรือ NICU (Neonatal Intensive Care Unit) แต่เมื่อได้รับอนุญาตจากทีมแพทย์ให้เข้าเยี่ยมแล้ว ควรใช้เวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างความผูกพันและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกัน ครอบครัวควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพยายามทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่ทารกกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่าคนอื่นๆ นอกจากนี้ครอบครัวและตัวคุณแม่เองสามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ศึกษาวิธีการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด การเสริมสร้างพัฒนาการ รวมถึงแนวทางการรักษาที่อาจจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดูแลลูกน้อย
เพราะรักที่สุด ต้องดูแลให้ดีที่สุด
แม้จะเกิดมาพร้อมกับความเสี่ยงและต้องเผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่วินาทีแรก แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหลายคนได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นและเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัย แข็งแรง พร้อมพัฒนาการที่สมวัยได้ ด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่ที่เหมาะสมจากครอบครัว
อ้างอิง
- World Health Organization. Preterm birth. Available at: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/preterm-birth. [Accessed 19 June 2023]
- Nursing, Health, and Education Journal. Effects of Empowerment Program for pregnant wemen at risk of preterm labor on the prevalence of preterm labor and preterm delivery. Available at: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/NHEJ/article/view/259766/178105 [Accessed 31 December 2022]
- MedlinePlus. Premature infant. Available at: https://medlineplus.gov/ency/article/001562.htm. [Accessed 6 March 2023]
- Goldenberg R et al. Epidemiology and causes of preterm birth. Lancet. 2008;371:75–84.
- Healthy Children. Developmental milestones of the premature baby. Available at: https://www.healthychildren.org/english/ages-stages/baby/preemie/pages/preemie-milestones.aspx. [Accessed 19 June 2023]
- Healthy Children. Caring for a premature baby: what parents need to know. Available at: https://www.healthychildren.org/english/ages-stages/baby/preemie/pages/caring-for-a-premature-baby.aspx. [Accessed 19 June 2023]
- Kaler J et al. Respiratory Syncytial Virus: A Comprehensive Review of Transmission, Pathophysiology, and Manifestation. Cureus. 2023;15(3):e36342
- Healthy Children. Health issues of premature babies. Available at: https://www.healthychildren.org/english/ages-stages/baby/preemie/pages/health-issues-of-premature-babies.aspx. [Accessed 19 June 2023]
- MedlinePlus. Intraventricular hemorrhage of the new born. Available at: https://medlineplus.gov/ency/article/007301.htm. [Accessed 19 June 2023]
- Piedimonte G, Perez MK. Respiratory syncytial virus infection and bronchiolitis. Pediatric Rev. 2014;35(12):519–530.
- Collins PL, Graham BS. Viral and host factors in human respiratory syncytial virus pathogenesis. J Virol. 2008;82(5):2040–2055.
- Rossi GA, Colin AA. Infantile respiratory syncytial virus and human rhinovirus infections: respective role in inception and persistence of wheezing. Eur Respir J. 2015;45(3):774–789.
- AstraZeneca. Data on file
- World Health Organization. Breastfeeding. Available at: https://www.who.int/en/health-topics/breastfeeding#tab=tab_1. [Accessed 19 June 2023]
- Goldstein M, et al. National Perinatal Association 2018 Respiratory Syncytial Virus (RSV) Prevention Clinical Practice Guideline: an evidence-based interdisciplinary collaboration. Neonatol Today. 2017;12(10):1–14.
- March of Dimes. Preterm babies are at higher risk for RSV. Available at: https://www.marchofdimes.org/find-support/blog/preterm-babies-are-higher-risk-rsv#:~:text=RSV. [Accessed 19 June 2023]