ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คลังเสนอ ครม.ปรับโครงสร้างภาษี เหล้าและกิจการบันเทิง

คลังเสนอ ครม.ปรับโครงสร้างภาษี เหล้าและกิจการบันเทิง Thumb HealthServ.net
คลังเสนอ ครม.ปรับโครงสร้างภาษี เหล้าและกิจการบันเทิง ThumbMobile HealthServ.net

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ด้วยการ ปรับภาษีสรรพสามิตสินค้าสุรา ปรับภาษีสรรพสามิตกิจการบันเทิงหย่อนใจ และปรับภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ โดยรัฐคาดหวังว่าทำให้ GDP ขยายตัว รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น

มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

         คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
 
         1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 13 สินค้าสุรา และการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
 
         2. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ และร่างประกาศกระทรวงการคลัง            เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..)
 
         3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของ กค. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund for Tourists) ของนักท่องเที่ยวเพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว


                   มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่กระทรวงการคลังเสนอ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (Tourist Destination) หรือเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านร้านอาหารและภัตตาคารที่มีคุณภาพหลากหลายและมีจุดแข็งด้านราคาในระดับภูมิภาค นำไปสู่การเพิ่มค่าการใช้จ่ายบริโภคต่อหัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืน โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย 2 มาตรการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

1. การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่นรวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว


โดยกระทรวงการคลัง (กรมสรรพสามิต) ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญดังนี้
 

1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตตอนที่ 13 สินค้าสุรา

 
         1.1.1 สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ทั้งนี้ เพื่อให้อยู่ภายใต้หลักการที่สินค้าชนิดเดียวกัน ส่งผลต่อสุขภาพเหมือนกัน ควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม เป็นมาตรฐานสากล และสอดรับกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวของรัฐบาล
 
         1.1.2 สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้า เนื่องจากสินค้า Fruit Wine เกือบทั้งหมด มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งมีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่แล้ว)
 
         1.1.3 สุราแช่ชนิดอื่น ๆ อาทิ สุราพื้นบ้าน สุราโซจูประเภทสุราแช่ที่มีการนำสุรากลั่นมาผสม รวมถึงสุราประเภทอื่น ๆ เช่น สุราที่หมักจากไวน์ผลไม้ที่ไม่มีองุ่นผสม หรือสุราแช่ที่ทำจากมอลต์แต่ไม่มีฮอปเป็นส่วนผสม จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้มีการกำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้
 
         (1) อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1.0 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราแช่พื้นบ้าน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดจนเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น
 
         (2) สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1.0 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพื่อรองรับกับสินค้าสุราที่มีการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
 
         (3) สุราแช่อื่น ๆ นอกจาก (1) และ (2) โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์


 
         1.1.4 สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่เพื่อการค้าตามที่กล่าวมาข้างต้น


 

 

1.2 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ

         ปรับอัตราภาษีสำหรับสถานบริการตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 17.01 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงซึ่งเปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่าจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 เป็นระยะเวลา ประมาณ 1 ปี ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ (ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ถึง 31 ธันวาคม 2567 เพื่อกระตุ้นให้กิจการสถานบันเทิงที่เคยปิดตัวไปช่วงโควิด กลับมาเปิดทำการได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายขยายเวลาปิดเป็น 04.00 น. ของกระทรวงมหาดไทยด้วย

 
 

1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ โดยกระทรวงการคลัง(กรมศุลกากร) 


                ได้เสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ในประเภทพิกัด 22.04     (ไวน์ที่ทำจาก องุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุทและไวน์อื่น ๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม) รวม 21 รายการ (เดิม จำนวน 6 ประเภทย่อย ได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เหลือร้อยละ 54 โดยร่างประกาศ กค. ให้เพิ่มสินค้าอีก 15 ประเภทย่อย ตามพิกัดในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564 ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า)


  

 
 

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 
         กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) เรื่อง กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 และให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สรุปได้ดังนี้
 
         2.1 การปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรจากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75
 
         2.2 การปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ (Luxury Goods) ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป

 


ด้านหนึ่งลด หลายด้านเพิ่ม


         กระทรวงการคลังได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วโดยคาดว่ามาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายจะทำให้เกิดการสูญสียรายได้ ดังนี้

         1) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราจะส่งผลให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ลดลง 150 ล้านบาทต่อปี

         2) การปรับลดอัตราภาษีสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ลดลงเป็นจำนวน 70 ล้านบาท (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการชำระภาษีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566) และ

         3) การยกเว้นอากรศุลกากรขาเข้าสินค้าไวน์ดังกล่าวจะส่งผลให้กรมศุลกากรสูญเสียรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 429 ล้านบาทต่อปี


         อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม มาตรการดังกล่าวที่กระทรวงการคลังเสนอจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปีและ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073 เทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ

           นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เพิ่มเติมในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยและการเพิ่มขึ้นของรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจบริการ สถานบันเทิง โรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง สายการบิน เป็นต้น และส่งผลให้มีการลงทุนขยายกิจการและการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไป ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น

ประเด็นข่าวเกี่ยวเนื่อง คลังเสนอ ครม.ปรับโครงสร้างภาษี เหล้าและกิจการบันเทิง

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด