17 มกราคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ตรวจยึดของกลาง 90 รายการ มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีความหลากหลาย และเป็นช่องทางอันดับต้นที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ จึงทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของเครื่องสำอางปลอม ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง และไม่ได้มาตรฐานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ อย. จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ตรวจสอบการลักลอบผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางปลอมผ่านแพลตฟอร์ม shopee ชื่อ “Kunying Beauty Shop” ซึ่งหากเป็นเครื่องสำอางปลอม หรือไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ หรืออาจเกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิวได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ผลิต และสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 10 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ปทุมธานีจำนวน 2 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 สถานที่จัดเก็บ และส่งสินค้า ในพื้นที่ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผลการตรวจค้นพบนางบุญมี (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว ตรวจยึด
- เครื่องสำอางที่ อย. เคยออกประกาศเป็นเครื่องสำอางกำหนดชื่อเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย จำนวน 4 รายการ รวม 2,740 ชิ้น ได้แก่ 1.) kim ครีมสมุนไพรขมิ้นผสมบัวหิมะ, 2.) LENAO COSMETIC WHITENING CREAM, 3.) kim ครีมไข่มุกผสมบัวหิมะ, 4.) ครีมบำรุงผิวสูตรกลางคืน ยี่ห้อ LAYNOW
- เครื่องสำอางที่เคยประกาศผลวิเคราะห์ว่าพบสารต้องห้าม จำนวน 8 รายการ รวม 2,360 ชิ้น ได้แก่ 1.) แพรวาครีมสมุนไพรมะขามป้อม vs น้ำมันมะพร้าว, 2.) MEYYONG RA, 3.) MEYYONG ฝาสีน้ำเงินกระปุกพลาสติกสีขาว, 4.) MEYYONG ฝาสีชมพูกระปุกพลาสติกสีขาว, 5.) Chili day cream, 6.) Chili night cream, 7.) KT night cream 8.) เลดี้ โกลด์ ครีมสาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า
- เครื่องสำอางที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องสำอาง จำนวน 65 รายการ รวม 14,567 ชิ้น เช่น เครื่องสำอางปลอม ไม่มีเลขที่จดแจ้ง ฉลากแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้อง เช่น happy ครีมสมุนไพรไข่มุกผสมบัวหิมะ, แพรวา ครีมน้ำผึ้งป่า, ไวท์โรส ครีมรกแกะ, KIM สบู่ไข่มุกผสมบัวหิมะ, KT gold plus cream
รวมของกลางทั้งหมด 77 รายการ จำนวน 19,667 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท จากการสอบถามนางบุญมีฯ แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นของนางสาวศิริลักษณ์ (สงวนนามสกุล)
จุดที่ 2 สถานที่ผลิตในพื้นที่ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผลการตรวจค้นพบนายอิทธิพล (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตรวจยึดเครื่อจักร, วัตถุดิบในการผลิตครีม, ภาชนะบรรจุ และยาทาภายนอก (กลุ่มสเตียรอยด์) จำนวน 73 กระปุก รวมทั้งหมด 13 รายการ มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท
รวมตรวจค้นทั้งหมด 2 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 90 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี โดยเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ อย.เคยออกประกาศเป็นเครื่องสำอางกำหนดชื่อเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย จำนวน 4 รายการ, เครื่องสำอางที่เคยประกาศผลวิเคราะห์ว่าพบสารต้องห้าม จำนวน 8 รายการ, เครื่องสำอางที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เช่น เครื่องสำอางปลอม ไม่มีเลขที่จดแจ้ง ฉลากแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ฉลากภาษาไทยไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้อง จำนวน 65 รายการ เครื่องจักร วัตถุดิบ, ภาชนะบรรจุ และยาทาภายนอก (กลุ่มสเตียรอยด์) จำนวน 13 รายการ มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า สถานที่ตรวจค้นทั้ง 2 จุด มีนาย อิทธิพลฯ (สามีของ น.ส.ศิริลักษณ์ฯ)เป็นผู้ดูแลการผลิตโดยใช้บ้านพักในพื้นที่ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นสถานที่ในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จากนั้นส่งมาจัดเก็บที่บ้านพักในพื้นที่ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อรอการบรรจุ และจำหน่ายให้กับลูกค้า โดย น.ส.ศิริลักษณ์ฯ เป็นผู้ดูแลการจำหน่ายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ และทำมาแล้วประมาณ 5 ปี
อนึ่ง การตรวจค้นครั้งนี้พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ซึ่งไม่แสดงฉลากภาษาไทย ส่งขายให้กับประชาชนซึ่งจะทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
ในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหากผลการตรวจวิเคราะห์ทั้ง 2 จุด ตรวจพบสารห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ฐานความผิด
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
สถานที่จัดเก็บและส่งสินค้าจำหน่าย
- มีความผิดฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- “ขายเครื่องสำอางที่ฉลากไม่ตรงต่อความจริง อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- “ขายเครื่องสำอางที่ฉลากภาษาไทย ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานที่ลักลอบผลิต มีความผิดฐาน
- “ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- หากตรวจพบสารห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถหาแหล่งผลิตและจำหน่ายรวมถึงตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้มีการเฝ้าระวังการขายเครื่องสำอางที่ตรวจพบสารห้ามใช้ ได้แก่ ไฮโดรควิโนน ปรอท และกรดเรทิโนอิก ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนการขายผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ (shopee/lazada/tiktok) เป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายใหญ่ได้
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดของกลางที่ทาง อย. ได้ประกาศชื่อเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย เช่น KIM ครีมไข่มุกผสมบัวหิมะ (KIM WHITENING PEARL AND SNOWLOTUS CREAM), KIM ครีมสมุนไพรขมิ้นผสมบัวหิมะ (KIM WHITENING TURMERIC AND SNOWLOTUS CREAM)” เลนาว ครีมบํารุงผิวหน้ากลางคืน พบเครื่องสำอางปลอมและเครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ เช่น แพรวาครีมสมุนไพรมะขามป้อม vs น้ำมันมะพร้าว, Chili day cream, Chili night cream, KT night cream, เลดี้โกลด์ ครีมสาหร่ายทองคำผสมกลูต้า, MEYYONG RA, MEYYONG ฝาสีน้ำเงินกระปุกพลาสติกสีขาว, MEYYONG ฝาสีชมพูกระปุกพลาสติกสีขาว และเครื่องสำอางที่ไม่จดแจ้งและฉลากแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญจำนวนมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ปรอท สารไฮโดรควิโนน กรดเรทิโนอิก ที่ อย. สั่งห้ามใช้ และแจ้งเตือนประชาชนหลายครั้ง (รายละเอียดตาม QR code ด้านล่าง) เพราะสารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้จะส่งผลเร็วแต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งจากผิวที่ดูขาวจะกลายเป็นดำคล้ำ มีภาวะผิวบาง เกิดฝ้าถาวร หากเป็นสิวก็เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหากเป็นรอยแผลถาวรก็จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงขอเตือนประชาชนอย่าซื้อครีมลักษณะนี้มาใช้ แต่ให้ซื้อครีมยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการจดแจ้งถูกต้องจากทาง อย. เท่านั้น
ขอย้ำเตือนประชาชนว่าการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สิวฝ้าหน้าขาวขึ้นภายใน 7 วัน ซึ่ง อย. ไม่อนุญาตการโฆษณาที่อวดอ้าง เป็นเท็จ หลอกลวงและเกินจริง หากพบจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาเกินจริงทุกกรณี ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน อย่าหลงซื้อ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด หรือการอวดอ้างสรรพคุณที่ให้ผลเกินจริง เช่น ขาวไว ผอมเร็ว เป็นต้น ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา ที่ถูกเกินกว่าปกติ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา