30 เมษายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ สอดรับและตอบสนองต่อความต้องการบริการของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ตนพร้อม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้นำผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานประชุมหารือร่วมกันเป็นครั้งที่ 3 มีประเด็นสำคัญ คือ เรื่องแรก การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานและอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา โดยเรื่องการเบิกจ่ายผ่าน MOPH Financial Data Hub ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 28 เมษายน 2567 มีการเชื่อมข้อมูลกับหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขครบทั้ง 902 แห่ง (100%) ส่วนหน่วยบริการสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย เชื่อมข้อมูลได้ 57 แห่ง (84%) มีการส่งข้อมูลเบิกจ่ายแล้ว 898 แห่ง สามารถนำส่งข้อมูลไปยังระบบประมวลผลของ สปสช.ได้ครบถ้วน และ สปสช.อนุมัติและโอนเงินสำเร็จ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลจากหน่วยบริการเกี่ยวกับการได้รับเงินชดเชยค่าบริการสาธารณสุข สปสช. แจ้งว่าจะเป็นไปตามการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แต่ละระยะ โดยระยะที่ 1 และ 2 รวม 12 จังหวัด มีการตรวจสอบผ่านระบบ On Screen Review สามารถโอนเงินให้หน่วยบริการได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่หน่วยบริการที่นอกเหนือจากนี้ ยังต้องใช้ระบบตรวจสอบเดิมที่ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน จึงเสนอให้ สปสช. จัดทำ Dashboard เพื่อติดตามกำกับข้อมูลการเบิกจ่ายทั้งหน่วยบริการนำร่องใน 12 จังหวัด และหน่วยบริการอื่นๆ โดยให้ สปสช. พิจารณาใช้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเบิกจ่าย เพื่อไม่ให้การจัดสรรงบประมาณล่าช้า และไม่เป็นภาระของหน่วยบริการ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งในที่ประชุมเสนอทีม สปสช. ให้ขอความคิดเห็นร่วมกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการเป็นหลัก
นพ.โอภาสกล่าวต่ออีกว่า เรื่องที่ 2 ยาฉีดจิตเวช สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงก่อความรุนแรงต่อสังคม (SMI-V) ซึ่งเป็นยาฉีดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติร่วมกันให้ดำเนินการ โดยในระยะแรกมีงบประมาณจาก สปสช. จำนวน 32 ล้านบาท เพื่อใช้ในการซื้อยา และกรมสุขภาพจิตสมทบอีก 7 แสนบาท เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล และกำกับ ติดตาม ผลการดำเนินงาน เรื่องที่ 3 การผลักดันการดำเนินงานด้านการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ ไตและดวงตา ให้มีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับบุคลากร และปรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนสุขภาพให้เหมาะสม และเรื่องที่ 4 คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Provider board) เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นของฝั่งผู้ให้บริการในการพัฒนาระบบหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น จะมีการจัดประชุมครั้งแรกภายในเดือนพฤษภาคมนี้