ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมน้ำป่าดินโคลนถล่ม ภาคเหนือ น้ำโขงล้น ภาคอีสาน

สธ.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมน้ำป่าดินโคลนถล่ม ภาคเหนือ น้ำโขงล้น ภาคอีสาน Thumb HealthServ.net
สธ.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมน้ำป่าดินโคลนถล่ม ภาคเหนือ น้ำโขงล้น ภาคอีสาน ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าดินโคลนถล่ม ในจ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ ในจ.หนองคาย เร่งส่งทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์พร้อมลงพื้นที่ เตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ดูแลประชาชน และฟื้นฟูหลังน้ำลด



ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน เข้าพื้นที่อุทกภัย ดินโคลนถล่ม จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย

 
       11 กันยายน 2567  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ในพื้นที่ อ.แม่อาย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และที่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและได้กำชับให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าดูแลและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงดูแลบุคลากรสาธารณสุขที่ส่วนหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนสนับสนุนทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical Emergency Response Team : MERT) ไว้แล้ว สามารถลงพื้นที่ได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอ โดยในระยะเร่งด่วน จะส่งทีม MERT จากพิษณุโลก เป็นแม่ข่ายนำทีม และทีม Mini MERT ของเขตสุขภาพที่ 2 เป็นลูกข่าย ซึ่งอยู่ใกล้สุดลงพื้นที่ ระยะที่ 2 สนับสนุนทีม MERT จากสระบุรี เป็นแม่ข่าย และทีม Mini MERT เขตสุขภาพที่ 4 เป็นลูกข่าย ส่วนระยะที่ 3 สนับสนุนทีม MERT จากฝั่งอีสานลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ
 
       นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจาก นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลแม่สาย ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงเทศบาลแม่สายและวัดพรหมวิหาร ซึ่งมีผู้ประสบภัย 71 คน ให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งทีมดูแลต่อเนื่อง (COC) และ MCCAT ประสานงานกับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบเหตุเพื่อติดตามอาการและวางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยได้นำส่งผู้ป่วยติดเตียงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้รับผลกระทบเรื่องบ้านเรือนและการเดินทาง ประมาณ 20 ราย ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วเช่นกัน ส่วนโรงพยาบาลฝาง ซึ่งอยู่ในเขตน้ำท่วมขัง ขณะนี้ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ได้วางแผนสำรองน้ำไว้เพื่อให้ใช้ได้ถึง 48 ชั่วโมง และวางแผนหาแหล่งน้ำอื่นสำรองหากประปาอำเภอฝางต้องหยุดจ่ายน้ำ
 
       นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ยังได้สำรองชุด V clean สำหรับทำน้ำสะอาดและกำจัดเชื้อโรค 200 ชุด พร้อมส่งเข้าช่วยเหลือพื้นที่อุทกภัย และเตรียมเพิ่มไว้อีก 400 ชุด รวมทั้งกำลังผลิต EM ball อีก 3,000 ลูก เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมขังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด

สธ.ติดตามสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่ง จ.หนองคาย กระทบ 5 อำเภอ

 
       13 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยบริการต่างๆ ยกระดับมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้น และเข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน หลังจากที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประกาศเตือนจังหวัดริมแม่น้ำโขงรับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 12-16 กันยายน 2567 ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคายว่า ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและน้ำล้นตลิ่งสูง 1.16 เมตร มีพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนริมน้ำโขงได้รับผลกระทบ จำนวน 5 อำเภอ 19 ตำบล 67 หมู่บ้าน ไม่มีรายงานประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญหาย หรือเสียชีวิต รวมถึงยังไม่มีรายงานหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย
 
        นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เสี่ยง พบว่า ทั้ง 9 อำเภอของหนองคายมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงรวม 1,812 ราย มีการประสานหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ 5 อำเภอเสี่ยง ได้แก่ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอสังคม และอำเภอศรีเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 21 ราย แบ่งเป็น ย้ายไปบ้านญาติ 18 ราย ไปศูนย์พักพิง 1 ราย และไปโรงพยาบาลที่สำรองเตียงรับย้ายผู้ป่วยที่ประสบภัย 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปี มีโรคสมองเสื่อม ได้เคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลโพนพิสัยส่วนการเฝ้าระวังป้องกันสถานการณ์นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) กรณีอุทกภัย พร้อมสั่งการทุกอำเภอในพื้นที่เสี่ยงให้เปิด PHEOC เฝ้าระวังป้องกัน และให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดเตรียมยาและเชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงเฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม และให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัย เพื่อป้องกันภาวะเครียดด้วย

สถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย ชีวิตสะสม 16 ราย

         14 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-13 กันยายน 2567 ว่า พบมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่

         1.เชียงใหม่ คือ อ.แม่อาย และ อ.ฝาง ผู้ได้รับผลกระทบสะสม 2,978 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 109 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านท่ามะแกง ซึ่งยังต้องปิดให้บริการ มีการเปิดศูนย์พักพิง 7 แห่ง (แม่อาย 6 แห่ง ฝาง 1 แห่ง) 

         2.เชียงราย ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.เมือง ผู้ได้รับผลกระทบ 24,925 ครัวเรือน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 308 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 133 ราย เสียชีวิตสะสม 10 ราย รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.แม่สาย  รพ.สต.โป่งผา  รพ.สต.สามัคคีใหม่ รพ.สต.ป่ายาง และ รพ.สต.รอบเวียง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ มีการเปิดศูนย์พักพิง 22 แห่ง (เมือง 12 แห่ง  แม่สาย 7 แห่ง แม่จัน เวียงชัย และแม่ฟ้าหลวง อำเภอละ 1 แห่ง)
 
         “ภาพรวมทั้ง 2 จังหวัดมีผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย สาเหตุมาจากดินถล่ม พลัดตกน้ำ/จมน้ำ และถูกกระแสน้ำพัด ผู้บาดเจ็บสะสม 136 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 6 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบรวม 417 ราย ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) แล้วทั้ง 2 จังหวัด ส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ (ชุดตรวจโรคฉี่หนู รองเท้าบูท ยากันยุง) รวม 9,000 ชุด” นพ.โอภาสกล่าว
 
         นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชน มีการจัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (MERT) ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับอำเภอ (Mini MERT) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมสุขภาพจิต (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม (SEhRT) หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (CDCU) ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) และทีมกู้ชีพกู้ภัย รวม 167 ทีม แบ่งเป็น เชียงใหม่ 52 ทีม และเชียงราย 115 ทีม ให้การเยี่ยมบ้าน 192 ราย ตรวจรักษา 1,662 ราย ให้สุขศึกษา 2,443 ราย สุขภาพจิต 784 ราย ส่งต่อผู้ป่วย 30 ราย มอบชุดดูแลสิ่งแวดล้อม 168 ราย โดยโรคและภัยสุขภาพที่พบส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า รองลงมาเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อ/กระดูก ระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อจากไวรัส เป็นต้น ยังไม่พบการระบาดของโรคที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย โดยในส่วนจังหวัดเชียงราย ขณะนี้สถานการณ์น้ำเริ่มลดลง ได้ให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังปัญหาโรคระบาด
 
         ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 13-18 กันยายน 2567 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น และตกหนักมากบางพื้นที่ อ.จอมทอง และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ พร้อมสื่อสารเตือนภัยประชาชนทั้งโรคที่มากับน้ำท่วมและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคฉี่หนู รวมถึงบริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้ขาดยา และดูแลกลุ่มเปราะบาง ส่วนที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำยังสูงขึ้น ล่าสุดได้รับรายงานสถานบริการได้รับผลกระทบ 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลหนองคาย และโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ตัองปรับการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ไว้รองรับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม

ติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “ยางิ”

          15 กันยายน 2567 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” กับจังหวัดเสี่ยงในภาคเหนือและภาคอีสาน และกล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยและได้ย้ำให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มเปราะบาง ติดบ้านติดเตียง รวมถึงป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เช่น ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ชุดทดสอบโรคฉี่หนู ยาพระราชทาน ยารักษาน้ำกัดเท้า ยากันยุง และรองเท้าบูท เป็นต้น รวม 21,400 ชุด
 
          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ในการบริหารจัดการสถานการณ์ ได้แบ่งจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรอรับน้ำโขงที่กำลังจะมาถึง เช่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมสำรวจกลุ่มเปราะบางเพื่อเตรียมแผนเคลื่อนย้าย 2.กลุ่มที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น เลย หนองคาย บึงกาฬ ให้เตรียมการป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ เช่นที่ หนองคาย เปิดศูนย์พักพิงรวม 17 แห่ง ก็ได้ระดมทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจังหวัดข้างเคียงและส่วนกลางเข้าสนับสนุนดูแล 3.กลุ่มที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งฟื้นฟู ให้เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ที่พบบ่อยคือ โรคฉี่หนู (leptospirosis) ต้องจัดระบบเฝ้าระวังและค้นหาสัญญาณการระบาดให้เร็ว เพื่อควบคุมโรคได้ทันท่วงที และออกคำแนะนำประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ทีมกู้ชีพ/กู้ภัย หากไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติลุยน้ำย่ำโคลน
 
          สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ออกปฏิบัติการควบคู่กับการดูแลด้านสุขภาพกาย โดยตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 13 กันยายน 2567 ทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย/บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่และชุมชนวงกว้าง รวม 21,680 คน ในจำนวนนี้พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแล้ว
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด