นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ติดตามสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ในประเทศ และ ติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเทคโนโลยีการตรวจการกลายพันธุ์ (SNP genotyping assay, Targeted sequencing, Whole genome sequencing) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทย (Variant of Concerns; VOC) ได้แก่ อัลฟา, เบตา, เดลตา จนกระทั่งพบสายพันธุ์โอมิครอน รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอน โดยในช่วงแรกประเทศไทยยังคงพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณสามสัปดาห์ต่อมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย
“ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็น ความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว