คุณหมอมนูญ อธิบายว่า ถึงแม้เครื่องบินจะมีระบบระบายอากาศในห้องโดยสารดีที่สุด เมื่อเทียบกับรถยนต์ รถโดยสาร รถไฟฟ้า เรือโดยสาร ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ได้เห็นข่าวผู้โดยสารและพนักงานที่ปฏิบัติงานในเครื่องบินติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกันหลายคนในเครื่องบินมากกว่าช่วงก่อนหน้าที่เป็นสายพันธุ์อื่น
เหตุผลสำคัญที่สุด ของความน่ากลัวของเชื้อโควิดโอมิครอนตัวนี้ เพราะนั่น
"แสดงถึงความสามารถในการแพร่เชื้อของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในอากาศเหนือกว่าไวรัสโควิดทุกสายพันธ์ุในอดีต และมากกว่าเชื้อโรคทางเดินหายใจทุกชนิด"
ระบบระบายอากาศในเครื่องบิน
"อากาศในเครื่องบินประมาณครึ่งหนึ่งดึงจากภายนอก อีกครึ่งหนึ่งอากาศในห้องโดยสารถูกหมุนวนกลับผ่านเครื่องกรองอากาศที่มีคุณภาพสูง HEPA filter ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้อย่างน้อยร้อยละ 99.97
อากาศถูกส่งเข้าไปในห้องโดยสารจากทางด้านบนและถูกดูดออกจากห้องโดยสารทางพื้นด้านล่าง (ดูรูป) ไม่ไหลไปตามความยาวของเครื่องบินทำให้ลดโอกาสแพร่เชื้อจากผู้โดยสารที่อยู่คนละแถวกันได้
อัตราการเปลี่ยนอากาศในห้องโดยสารเครื่องบินสูงถึง 20-30 รอบต่อชั่วโมงเทียบเท่าอัตราการเปลี่ยนอากาศในห้องผ่าตัด คุณภาพของอากาศในห้องโดยสารเครื่องบินดีมาก แต่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนก็ยังแพร่เชื้อได้ในเครื่องบิน"
โอมิครอนสามารถเอาชนะระบบหมุนเวียนอากาศที่ยอดเยี่ยมฝีมือมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย
และนั่นคือ คำตอบ
และสุดท้ายจึงกลายมาเป็นคำเตือน ที่ควรพิจารณาและยึดถือ เพื่อความปลอดภัย
"ดังนั้นผู้โดยสารจะพึ่งระบบถ่ายเทอากาศในเครื่องบินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ใส่หน้ากากชนิดที่แพทย์ใช้ อย่าใส่หน้ากากผ้า ถ้าเป็นไปได้ควรใส่หน้ากาก N95 หลังกินอาหารและดื่มให้รีบกลับไปใส่หน้ากากใหม่ทันที ทุกคนที่โดยสารในเครื่องบินต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบโดส และฉีดเข็มกระตุ้นเมื่อถึงกำหนด"
หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
11 กุมภาพันธ์ 2565