ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักร และเพิ่ม "ฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 56

คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักร และเพิ่ม "ฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 56 Thumb HealthServ.net
คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบยกเลิกเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" นอกราชอาณาจักร และเพิ่ม "ฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังลำดับที่ 56 ThumbMobile HealthServ.net

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบร่างประกาศยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย "โควิด" หลังแนวโน้มลดลงทั่วโลก ฉีดวัคซีนจำนวนมากมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ และร่างประกาศเพิ่ม "ฝีดาษวานร" เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 และรับทราบมาตรการควบคุมป้องกันโรคในสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด

 
 
       7 มิถุนายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม
 
 
       นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาและเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1. ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 และ 2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มชื่อโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
 

รายละเอียดแต่ละประเด็นดังนี้
 
 
1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... 
 
       เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ทั่วโลกอยู่ในแนวโน้มลดลง สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงลดลง และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยคนไทยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนระบบ Thailand Pass เพียงแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนและผลตรวจ professional-ATK หรือ RT-PCR ก็พบว่าผู้เดินทางเข้าประเทศวันละหลายหมื่นคน มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 น้อยมาก หรือบางวันไม่พบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเลย ถือว่ามีความปลอดภัย จึงนำมาสู่การเห็นชอบประกาศยกเลิกเขตโรคติดต่ออันตรายนอกราชอาณาจักร
 
       "ประเทศไทยเองสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเปิดภาคเรียน 3 สัปดาห์ และวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมาตรการให้เปิดสถานบันเทิงในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 31 จังหวัด โดยต้องผ่านมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 plus และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จนถึงวันนี้ยังไม่พบสถานการณ์การระบาดมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติของประชาชน โดยดำเนินการตามมาตรการ "2U" คือ Universal Prevention และ Universal Vaccination โดยให้กลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และโรคเรื้อรังรับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และมาตรการ 3 พอ คือ เตียงพอ หมอพอ และยาเวชภัณฑ์พอ" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
 
 
 
 
2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยเพิ่มชื่อโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 
 
       ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการด้านวิชาการที่ประชุมหารือเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า โรคฝีดาษวานร ยังแพร่ระบาดในต่างประเทศ ประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง และยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ  โดยกรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษวานร และเตรียมความพร้อมเสริมมาตรการคุมเข้ม ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินนานาชาติ และสั่งการโรงพยาบาลในสังกัดรัฐและเอกชน เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง สังเกตอาการกลุ่มเสี่ยง และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ฝีดาษลิง"
 
 
 
       นอกจาก 2 ประเด็นหลัก ที่ประชุมยังรับทราบมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในสถานบริการ ผับบาร์ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคทั่วราชอาณาจักร มีรายละเอียดหลายข้อ ดังนี้
 
มาตรการด้านการบริการ 
- กำหนดให้เปิดบริการ จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น. 
- งดบริการเครื่องดื่มที่ใช้แก้วร่วมกัน 
- งดกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
- การให้บริการที่มีการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้าจะต้องสวมหน้ากาก 
 
มาตรการสำหรับผู้ให้บริการ 
- พนักงาน นักร้อง นักดนตรี ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ 
- ตรวจคัดกรองความเสี่ยงทุกวัน 
- ตรวจ ATK ทุก 7 วัน 
- เมื่อมีอาการหรือความเสี่ยง ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP)
 
ส่วนมาตรการสำหรับลูกค้า 
- ต้องแสดงหลักฐานรับวัคซีนเข็มกระตุ้นครบตามเกณฑ์ 
- ปฏิบัติตามมาตรการ UP เช่นกัน 
- กลุ่มเสี่ยง 608 ยังแนะนำให้งดหรือเลี่ยงการเข้ารับบริการ
 
 


สถานประกอบการต้องขออนุญาต

          สำหรับสถานประกอบการต้องขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID 2 Plus ซึ่งทั่วประเทศสถานบันเทิงที่ลงทะเบียน 760 แห่ง จากทั้งหมด 2,890 แห่ง ผ่านการประเมิน 100% เช่นเดียวกับสถานบันเทิงในพื้นที่เฝ้าระวังและนำร่องท่องเที่ยวที่มีการลงทะเบียน 688 แห่ง จากทั้งหมด 2,135 แห่ง ผ่านการประเมิน 100% เช่นกัน

          นอกจากนี้ ยังต้องทำตามมาตรการ COVID Free Setting จัดพื้นที่บริการมีระยะห่างระหว่างโต๊ะอย่างน้อย 1 เมตร มีการระบายอากาศที่เพียงพอ กรณีเป็นอาคารปิดและใช้เครื่องปรับอากาศควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลา อาจติดตั้งเครื่องฟอกอากาศตามความเหมาะสมและจัดให้มีการตรวจสอบผู้รับบริการว่ารับวัคซีนครบถ้วน ขณะที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. มีการติดตามกำกับอย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้งทีมตรวจประเมิน ให้คำแนะนำ ตักเตือนสถานบริการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคและมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานข้อมูลทะเบียนรายชื่อสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวดกับปกครองจังหวัดและ อปท.พื้นที่ จัดทำแผนสุ่มเฝ้าระวังสถานบริการในพื้นที่ทุกสัปดาห์ และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. และกระทรวงสาธารณสุข

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด