หลังจาก 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป โรคโควิด-19 ได้ถูกลดระดับกลายเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรงอีกต่อไป
กระนั้น สำหรับคนไทยที่ อาจติดโควิด หรือ สงสัยว่าจะติดโควิด ก็ตาม สปสช. จะยังคงให้บริการดูแล แบบเดิม หรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญอยู่
ซึ่งล่าสุด สปสช. โดยเลขาธิการ สปสช. ได้ให้ข้อมูลและ
แนวทางการดูแลประชาชนที่ติดโควิด หลัง 1 ก.ค. เป็นต้นไป ดังนี้
กรณี สงสัยว่าจะติดโควิด
ขอรับชุดตรวจ ATK - หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตังหรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที
ผลตรวจพบว่าติดโควิด
ไม่ต้องโทร.แจ้ง 1330 แล้ว
ทั้งนี้ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้อง โทร.แจ้งแล้ว
หากผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด คือ ผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถเข้ารับการรักษา ตามกลุ่มอาการ เขียว เหลือง แดง เช่นเดิม กล่าวคือ
กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือ "กลุ่มสีเขียว" เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทาง "เจอ-แจก-จบ" ของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โทร.ประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช.เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน
กรณีเป็น กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน หากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน
หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สายด่วน 1330 จะเป็นหน่วยบริการ สปสช. ที่จะให้ข้อมูลและช่วยเหลือต่อไป
- หากมีข้อสงสัยว่า ติดโควิด จะต้องทำอย่างไร
- หากติดโควิด จะต้องทำอย่างไร
- หากมีอาการแย่ลง จะต้องทำอย่างไร
- หากต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาล