การเตรียมการรองรับผู้ป่วย
กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมการรองรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยเตรียม รพ.ในทุกสังกัดในกทม. ทั้งรพ.สธ. รพ.ของกองทัพ รพ.ตำรวจ รพ.มหาวิทยาลัย และรพ.เอกชน ทั้งหมด 6,525 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 3,700 กว่าเตียง ส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อลดความแออัดในสถานพยาบาล และเพื่อให้สถานพยาบาลที่มีเครื่องมือที่พร้อม ในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการมาก หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
เป้าหมาย Hospitel
Hospitel มากจาก Hotel+Hospital เป็นการใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่ คือโรงแรมที่ไม่มีผู้มาพักอาศัย ทำให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว เพื่อใช้เป็นทางเลือกที่สำคัญคู่ไปกับเตียงที่มีให้บริการในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม พื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย Hospitel นี้ จะใช้ในการรองรับผู้ป่วย covid-19 ใน 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่ไม่มีอาการ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่พบในการระบาดรอบนี้
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่อยู่ในโรงพยาบาลมา 3-5 วันแล้ว และอาการไม่แย่ลง หรือ อาการปกติ
ในกรณีที่ผู้ป่วยที่อยู่ใน Hospitel แล้ว มีอาการมากขึ้น ก็จะทำการย้ายกลับไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก ที่เป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของ Hospitel ทันที
ในการทำ Hospitel กรมฯ ได้จัดทำมาตรฐานในการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียน ทั้งมาตรฐานเชิงโครงสร้าง มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความเป็นมิตรต่อชุมชน มาตรฐานของเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต้องมี เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิดิจิตอล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด เครื่องเอ็กเรย์เคลือนที่ รวมทั้งมาตรฐานบริการทางการแพทย์ที่กำหนดว่า จะต้องมีแพทย์ 1 คน พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 20 เตียง
ในการขึ้นทะเบียน Hospitel ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน นั้น ขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมจำนวนที่ขออนุมัติไว้ 4,900 เตียง โดยในขณะนี้ มีการใช้ไปแล้วประมาณเกือบ 2,000 เตียงแล้ว
มีเป้าหมาย จะเตรียม Hospitel ให้ได้ถึง 5-7,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยใหม่ที่อาจเพิ่มขึ้นถึงประมาณวันละ 4-500 คนได้
ส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดจากบริการ Hospitel นั้น ถ้าหากว่าผู้ป่วยมีประกันสุขภาพก็สามารถจะเบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคลไป แต่หากไม่มี ก็จะมีระบบประกันแบบอื่นๆ มารองรับ