ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รายงานผลศึกษาแก้ปัญหาจราจรในกทม.ปริมณฑล ด้วย ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport System - ITS)

รายงานผลศึกษาแก้ปัญหาจราจรในกทม.ปริมณฑล ด้วย ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport System - ITS) Thumb HealthServ.net
รายงานผลศึกษาแก้ปัญหาจราจรในกทม.ปริมณฑล ด้วย ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transport System - ITS) ThumbMobile HealthServ.net

ผลการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษามาตรการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรณีศึกษา การบริหารจัดการจราจรโดยใช้ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา (เสนอต่อ ครม. ตุลาคม 64)


คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษามาตรการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรณีศึกษา การบริหารจัดการจราจรโดยใช้ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
 
เรื่องเดิม

1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษามาตรการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรณีศึกษา การบริหารจัดการจราจรโดยใช้ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) มาเพื่อดำเนินการ

โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรการ แผนงาน และโครงการนำร่อง 3 ระยะ ดังนี้

1.1 มาตรการระยะเร่งด่วนไม่เกิน 1 ปี ได้แก่ มาตรการพัฒนาระบบ ITS เพื่อข้อมูลข่าวสาร เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีสมรรถนะสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการจราจรมาตรการพัฒนาระบบ ITS เพื่อควบคุมและจัดการจราจร เช่น จัดทำโครงการนำร่องทดสอบการควบคุม และจัดการจราจรด้วยเทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศ โดยเลือกบริเวณพื้นที่นำร่องที่มีสถานศึกษา สถานที่ราชการ พื้นที่เศรษฐกิจ ตลาดและชุมชนที่ต้องใช้เส้นทางเดียวกัน มาตรการพัฒนาระบบ ITS เพื่อการขนส่ง เช่น เร่งผลักดันระบบตั๋วร่วมให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รถไฟฟ้า และเรือ เป็นลำดับแรก

1.2 มาตรการระยะสั้น 1 - 3 ปี เช่น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายที่ทำให้การจราจรติดขัด เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถแท็กซี่จอดรับ - ส่งผู้โดยสารโดยเฉพาะเวลาเร่งด่วน และรถยนต์สาธารณะจอดรับ - ส่ง ผู้โดยสารนอกป้าย ใช้มาตรการทบทวนหรือยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่แก่บุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งในกรณีกระทำความผิดซ้ำซ้อนและกระทำความผิดร้ายแรง ผลักดันโครงการอาสาจราจรแบบมีส่วนร่วม

ในแต่ละพื้นที่ที่มีการจราจรคับคั่งโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ใช้เส้นทางนั้นสัญจร เช่น ตัวแทนจากสถานศึกษา ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน (Mass transit) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้บัตรทางด่วน เพื่อกระจายความหนาแน่นของรถยนต์บริเวณจุดจ่ายค่าผ่านทางด้วยเงินสด และเพิ่มความคล่องตัวในการจราจรบนเส้นทางด่วน รวมทั้งมาตรการเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้เสร็จตามที่กำหนด


1.3 มาตรการระยะกลาง 3 - 5 ปี มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน (Mass transit) ต้องพัฒนาให้สถานี/จุดจอดของระบบขนส่งมวลชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย มาตรการส่งเสริมการคมนาคมทางน้ำ (เรือ) โดยพัฒนาเส้นทางเข้า - ออก ท่าเรือให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการ จัดให้มีรถเวียนบริการรับ - ส่ง ระหว่างท่าเรือกับการเดินทางรูปแบบอื่น เช่น เรือต่อรถ มาตรการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ผังเมืองไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่เมืองของกรุงเทพมหานครในด้านอื่น ๆ มาตรการจำกัดการจดทะเบียนของรถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานคร เพื่อลดปริมาณรถยนต์ใหม่เข้าสู่ท้องถนน ได้แก่ กำหนดระเบียบควบคุมการซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลโดยผู้ซื้อรถต้องมีที่จอดรถ เป็นต้น มาตรการควบคุมมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่เพื่อเป็นการป้องปรามหรือลดผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือผู้ที่กระทำความผิดซ้ำซ้อนโดยขาดจิตสำนึก ได้แก่ ทบทวน/ปรับปรุงการออกใบอนุญาตใบขับขี่ประเภทต่าง ๆ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น



2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ คค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัญมนตรีต่อไป
 
 

ข้อเท็จจริง

คค. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
 

ประเด็น ผลการพิจารณาศึกษา

1. มาตรการระยะเร่งด่วนไม่เกิน 1 ปี

- กทม. (สำนักการจราจรและขนส่ง) รายงานว่า ปัจจุบันผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการจราจรและขนส่ง และได้ส่งร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพิจารณาดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงแล้ว โดยเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับกรอบแนวทางการนำระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (ITS) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

- ดศ. เห็นว่า ควรพิจารณาใช้งานโครงข่ายส่วนตัว (Private Network) ในการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ที่ใช้งานร่วมกับระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (ITS) เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ และจัดเตรียมศูนย์บริหารจัดการให้มีขนาดเพียงพอกับการบูรณาการระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแบบรวมศูนย์ เช่น ศูนย์บริหารจัดการจราจร และศูนย์บริหารจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

- กรมทางหลวงได้ติดตั้งระบบกล้อง CCTV และอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพจราจรบนทางหลวงสายหลักสู่ภูมิภาคต่าง ๆ รอบกรุงเทพมหานครเพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพจราจร และติดตั้งป้ายจราจรและแบบสลับข้อความ (Variable Message Sign : VMS) บนสายทาง เพื่อให้ข้อมูลด้านการจราจรกับผู้ใช้ทาง และช่วยในการบริหารจัดการจราจร  นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงระบบควบคุมสัญญานไฟจราจรเป็นระบบ Adaptive Traffic Signal Control ที่สามารถปรับเปลี่ยนรอบสัญญานไฟให้เหมาะสมกับปริมาณจราจรในขณะนั้นได้อัตโนมัติ


2. มาตรการระยะสั้น 1 - 3 ปี

- กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการเร่งผลักดันการใช้ระบบตัดแต้มใบอนุญาตขับรถซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการออกระเบียบและประกาศ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
 
  1.  ร่างระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ....
  2. ร่างระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ....
  3. ร่างประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง หลักสูตรการอบรมความรู้เพื่อขอคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ....

สำหรับการพัฒนาระบบตัดคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถอยู่ระหว่างดำเนินการลงนามสัญญากับผู้รับจ้างเพื่อพัฒนาระบบ ซึ่งประกอบด้วยระบบงานต่าง ๆ ดังนี้
   1. ระบบงานจัดการคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถ
   2. ระบบงานอบรมคืนคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถ
   3. ระบบงานสืบค้นคะแนนและการอบรมคืนคะแนนความประพฤติ (Mobile Application)
   4. ระบบแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศอื่น/หน่วยงานอื่น


- ขสมก. ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (GPS) บนรถโดยสารเรียบร้อยแล้ว

- รฟม. ให้บริการระบบแสดงจำนวนที่จอดว่าง (Free Lots) ณ อาคารและลานจอดรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล สายฉลองรัชธรรมและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ผ่านเว็บไซต์ http://park-ride.mrta.co.th เพื่อให้สามารถตรวจสอบจำนวนช่องจอดรถว่าง สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและตัดสินใจเดินทาง รวมถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา Mobile Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการมากขึ้น
 
 

3. มาตรการระยะกลาง 3 - 5 ปี


- กรมการขนส่งทางรางเห็นควรจัดทำมาตรการทางภาษี มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น และพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยขยายเพิ่มเติมจาก M-MAP ออกไปอีกรัศมี 20 กิโลเมตร เป็นรัศมี 40 กิโลเมตร เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ชานเมืองสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางราง และใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางในการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง

- รฟม. ปรับปรุงและออกแบบสถานีรถไฟฟ้าให้เชื่อมต่อกับการโดยสารรูปแบบอื่น โดยใช้หลักการออกแบบ Universal Design โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด และนำเทคโนโลยีจอดรถอัตโนมัติ (Robot Parking) มาใช้ในการเพิ่มจำนวนช่องจอดรถบริเวณลานจอดรถของ รฟม. ในเขตเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาจอดเพื่อเดินทางต่อด้วยระบบขนส่งมวลชนอื่น

- สนข. ได้จัดทำข้อเสนอแนะการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้า - ออก ท่าเรือ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่ใกล้ท่าเรือ ทั้งนี้ ยังพบว่า มีคลองที่มีศักยภาพในการเดินเรือ จำนวน 31 คลอง และ 1 แม่น้ำ และมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (ล้อ ราง เรือ) ตามแนวคลองและแม่น้ำ ในปัจจุบันจำนวน 12 จุด ในอนาคตจำนวน 15 จุด รวมทั้งสิ้น 27 จุด ซึ่งสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้

- กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตบางประเภทต้องอบรมและทดสอบเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้มีทักษะเพียงพอที่จะควบคุมยานพาหนะบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย เช่น ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่มีกำลังสูงขนาดความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 400 ซีซี (Big bike) เป็นต้น                 


 ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เห็นชอบตามแนวทางของรายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ จึงควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันตลอดจนการจัดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ซึ่ง ตช. ได้ดำเนินการจัดทำระบบร่วมกับกรมการขนส่งทางบกไว้แล้ว นอกจากนี้ รายงานการพิจารณาศึกษาในเรื่องนี้ มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล [Intelligent Transport System : ITS (แผนแม่บท ITS)] ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2561 - 2570) ของ คค. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (22 มกราคม 2562) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ที่มีมติเห็นชอบแผนแม่บท ITS และมอบหมายให้ คค. ขับเคลื่อนแผนแม่บท ITS ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ซึ่ง คค. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บท ITS ผ่านกลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน และจะได้นำข้อเสนอแนะและมาตรการต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ไปประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป      

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด