14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวประเทศตุรกีตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยทีมค้นหากู้ภัยหรือทีม Urban Search and Rescue (USAR) ของประเทศไทย นำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ 3 คนเดินทางไปด้วยนั้น ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน กรณีช่วยผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวตุรกี ได้รับรายงานการดำเนินงานของทีม USAR ว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกของการปฏิบัติงาน ได้ดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บชาวตุรกี 3 ราย คือ 1.หญิงอายุ 58 ปี บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว มีแผลฉีกขาดที่หน้าผากข้างขวา ได้ทำแผลและให้ยาฆ่าเชื้อ 2.ชายอายุ 58 ปี บาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว ปวดที่ต้นขาขวา เดินลงน้ำหนักไม่ได้ ให้ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ และแนะนำไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล และ 3.หญิงอายุ 15 ปี มีอาการไอ เจ็บคอ เป็นทอนซิลอักเสบ ให้ยาแก้ปวดลดไข้ และยาแก้ไอ
ส่วนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้ออกปฏิบัติการนอกฐานที่ Hatay Province จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อาคารถล่ม 2 แห่งใน Akbaba เนื่องจากสงสัยมีผู้เสียชีวิตติดภายใน แต่แห่งแรกโครงสร้างไม่เสถียรจึงไม่สามารถเข้าให้การช่วยเหลือได้ อีกแห่งพบผู้เสียชีวิต 1 ราย, พื้นที่อาคาร 4 ชั้นที่ถล่มใน Kantara มีผู้อาศัย 7 ราย เนื่องจากวันก่อนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แจ้งว่าได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ หลังรถแบ็กโฮรื้อถอนมา 2 ชั่วโมง ทีม USAR เข้าตรวจสอบและค้นหา 1 ชั่วโมง ไม่พบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต และสุดท้ายการช่วยเหลือแมวที่ติดอยู่ในห้องบนตึกชั้น 3 ของอาคารใน Akasya ได้เข้าพื้นที่และช่วยเหลือแมวออกมาได้อย่างปลอดภัย สรุปไม่มีผู้เจ็บป่วยที่เป็นผู้ประสบภัย แต่เจ้าหน้าที่ได้รับอุบัติเหตุหกล้ม มีแผลใต้หัวเข่าขวา 1 ราย ได้ทำแผลและให้ยาปฏิชีวนะ ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนติดเชื้อ ได้รับการรักษาและให้ยารับประทาน
“ทีมช่วยเหลือของประเทศไทยที่ส่งไปในครั้งนี้ พร้อมที่ช่วยเหลือคนไทยและทุกชาติ โดยเบื้องต้นจะมีการนำคนไทยกลับประเทศ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 21.00 น. ที่ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง จำนวน 34 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บ 1 ราย และมีร่างผู้เสียชีวิตอีก 1 ร่าง โดยมอบหมายกรมควบคุมโรคดำเนินการคัดกรองโรค และนำส่งทุกรายไปพักรอที่ศูนย์กักกันโรคสถาบันบำราศนราดูร ส่วนการจัดส่งทีมชุดต่อไป ได้เตรียมทีม Thailand EMT Type 1 แล้ว พร้อมเดินทางหากทางการตุรกีร้องขอ” นพ.ณรงค์กล่าว
นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า ส่วนการมอบอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น จะสนับสนุนครุภัณฑ์จำนวน 10 รายการ รวม 5.52 ล้านบาท ให้แก่ประเทศตุรกีและซีเรียประเทศละ 2.76 ล้านบาท โดยกระทรวงการต่างประเทศรวบรวมของบกลางจากรัฐบาล สำหรับการสนับสนุนทีม USAR ที่เดินทางไปแล้วนั้น วันนี้ มูลนิธิส่งเสริมการลูกเสือแห่งประเทศไทย ได้บริจาคถุงนอน (Sleep Bag) แบบศูนย์องศา จำนวน 55 ชุด ผ่านกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่เดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวประเทศตุรกี ที่ต้องปฏิบัติภารกิจในสภาพอุณหภูมิหนาวเย็นถึงขั้นติดลบ โดยจะเร่งจัดส่งไปพร้อมกับอุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเครื่องบินของทางการทหาร แต่หากขนส่งไม่ทันสายการบิน Turkish Airline จะสนับสนุนการขนส่งต่อไป