ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.เปิด 3 มาตรการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เตรียมเสนอร่างวาระแห่งชาติ

สธ.เปิด 3 มาตรการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เตรียมเสนอร่างวาระแห่งชาติ Thumb HealthServ.net
สธ.เปิด 3 มาตรการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ เตรียมเสนอร่างวาระแห่งชาติ ThumbMobile HealthServ.net

สธ.เปิด 3 มาตรการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ หลังนพ.ชลน่าน ชูนโยบายส่งเสริมมีลูกเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องขับเคลื่อนเดินหน้า แผนพัฒนาประชากรระยะยาวของประเทศไทย กรมอนามัยเตรียมเสนอร่างวาระแห่งชาติ

  25 ธันวาคม 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566  โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.พงศธร  พอกเพิ่มดี  รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
 

          นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเน้น 3 มาตรการหลักในการดำเนินการ ดังนี้

           1) ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีบุตร (Enabling Environment) โดยมีมาตรการย่อยที่สำคัญ ได้แก่ แก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนนโยบาย Family Friendly Workplace  ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดูแลและเลี้ยงบุตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี 

           2) เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Persuasion) โดยให้คุณค่า “ทุกการเกิดมีความสำคัญ” บทบาทชาย-หญิง  และความรู้และทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย

           3) สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ ได้แก่ การดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก รวมถึงการให้คำปรึกษาทางเลือกในผู้ที่ท้องไม่พร้อม เพื่อให้ผู้ที่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อได้รับการดูแล ทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
 


 
           “ทั้งนี้ 3 มาตรการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาและทบทวนนโยบายส่งเสริมการมีบุตรอย่างเป็นระบบ และได้วิเคราะห์มาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งการจัดทำร่างวาระแห่งชาตินี้ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับตั้งแต่ระดับโลก ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระดับประเทศ (แผนระดับที่ 1) ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 แผนระดับที่ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนระดับที่ 3 ได้แก่ แผนพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565-2580) และนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่างวาระแห่งชาติ


         ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคการเมือง เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน โดยเสนอให้รัฐบาลประกาศนโยบายว่า “รัฐบาลสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการมีบุตร สนับสนุนการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความรู้  ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรและบทบาทของชาย-หญิง ทั้งในและนอกครอบครัว และให้ความช่วยเหลือ ผู้ที่มีความประสงค์มีบุตร และผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ง่ายและเร็วขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมการสร้างครอบครัวที่มีการวางแผนและการเกิดอย่างมีคุณภาพ” ซึ่งหลังจากการประชุมนี้  จะได้เตรียมร่างวาระแห่งชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาประกาศเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

กรมอนามัยเตรียมเสนอร่างวาระแห่งชาติ
 

           ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้มีการปรับปรุง (ร่าง) วาระแห่งชาติ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมาย พ.ศ. 2566-2570 TFR ของประเทศ ไม่น้อยกว่า 1.0 และ พ.ศ.2566 - 2585 TFR ของประเทศ ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5
 
          “ทั้งนี้ หาก (ร่าง) วาระแห่งชาติ ประเด็น ส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  กรมอนามัยคาดว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ใน 3 ระดับ คือ

           1) ในระดับประเทศ : ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ก่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว ทางเศรษฐกิจ สังคม และเชื้อชาติ บรรเทาปัญหาและความท้าทายของประเทศที่เกิดจากการเป็นสังคมสูงวัย

           2) ระดับสังคม : สังคมมีความรู้ เข้าใจสถานการณ์ทางประชากร และวางแผนรับมือผลกระทบที่เกิดจากจำนวนการเกิดที่ลดลงได้ มีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างครอบครัว ความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิงในสังคม เป็นพลังร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ และ

           3) ระดับประชาชน : ได้รับสิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับโดยไม่เลือกปฏิบัติ ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการผ่านมาตรการขับเคลื่อนที่ภาครัฐใช้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีบุตร” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด