สาเหตุและการติดต่อ: ภัยเงียบที่แพร่กระจาย
เชื้อไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นสาเหตุหลักของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาการเริ่มต้นอาจคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่ในกลุ่มเสี่ยงอาจลุกลามเป็นโรคหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบได้ การติดต่อเกิดขึ้นได้หลากหลายวิธี ดังนี้
- การหายใจ การได้รับน้ำมูก หรือละอองเสมหะของผู้ป่วย โดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูก และปาก
- การได้สัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ เป็นต้น
- การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตา หรือเข้าปาก
อาการของ RSV
อาการของ RSV มักเริ่มต้นด้วยไข้ ไอ น้ำมูกไหล แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น หายใจหอบเหนื่อย เล็บเขียว ตัวเขียว ซึมลง เบื่ออาหาร ไม่ดื่มน้ำหรือนม หายใจเร็ว หรือหายใจมีเสียงวี้ด ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
การป้องกัน RSV
การป้องกันทำได้ไม่ยาก ด้วยวิถีปฏิบัติพื้นฐานที่ขอเพียงต้องทำสม่ำเสมอและใส่ใจ ได้แก่
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- สวมหน้ากากอนามัย
- รักษาสุขอนามัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการจูบ หอมเด็ก และไม่พาเด็กไปในที่ชุมชน
- ทำความสะอาดของเล่นเป็นประจำหากเด็กป่วย ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้าน จนกว่าจะหายเป็นปกติ
RSV ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเรารู้จักและป้องกันอย่างถูกวิธี ก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกคน เราพร้อมให้คำปรึกษาและบริการทางการแพทย์แก่ทุกท่านที่ต้องการความช่วยเหลือ
ข้อมูลและภาพจากสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร