รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน และความคืบหน้าการดำเนินงาน
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ( MERS-CoV)
รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน และความคืบหน้าการดำเนินงานโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ( MERS-CoV)
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 6 พฤษภาคม 2557
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012
- สถานการณ์จากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก รายงาน ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2557 พบว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 รวมทั้งสิ้น 264 ราย เสียชีวิต 93 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 264 ราย พบรายงานจาก 16 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน, ซาอุดิอาระเบีย ,กาตาร์ , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ตูนีเซีย, เยอรมนี ,อิตาลี ,โอมาน,คูเวต ,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์,กรีซ ,อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่พบในผู้เดินทางไปแสวงบุญ และบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะที่ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของยุโรป รายงาน ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 รวม 424 ราย เสียชีวิต 131 ราย
- สำหรับประเทศไทย ยังไม่พบ การแพร่ระบาดของโรค โดยรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2557 ได้รับรายงานผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวัง MERS-CoV รวม 13 ราย จากกรุงเทพมหานคร 3 ราย เพชรบุรี 4 ราย ปัตตานี 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย และยะลา 1 ราย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 13 ราย ให้ผลทางห้องปฏิบัติการ เป็นลบ
ที่มา:
1. World Health Organization (WHO) .Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV) – Update. [ Cited 6 May 2014]; Available from: http://www.who.int /csr/don/2014_05_05_mers/en/
2. European Centre for Disease Prevention and Control ( ECDC). Epidemiological update: MiddleEast respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV). [ Cited 1 May 2014];Availablefrom:http://www.ecdc.europa.eu/en/press/news/_layouts/forms/News_DispForm.aspx?List=8db7286c-fe2d-476c-9133-18ff4cb1b568&ID=994
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
- จากสถานการณ์และข้อมูลในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน ( Severe Acute Respiratory Infection ; SARI ) และติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆอย่างใกล้ชิด
- มาตรการควบคุมการติดเชื้อ มีความสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควรใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดความเสียงของการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับความรู้ การฝึกอบรมและฟื้นฟูทักษะในการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
- เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 บางรายมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ดังนั้น การตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่ระยะต้นๆ จึงเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ ควรปฏิบัติตามหลัก Standard Precautions กับผู้ป่วยทุกรายในระหว่างการปฏิบัติงานตลอดเวลา โดยไม่ต้องคำนึงถึงการวินิจฉัยโรค
- องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำแก่บุคลากรทางการแพทย์ ให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากแถบตะวันออกกลาง ที่มีอาการ SARI ควรได้รับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ตามระบบเฝ้าระวัง และประเทศสมาชิกทุกประเทศควรมีการประเมินสถานการณ์และรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 พร้อมประวัติการสัมผัสโรคต่อองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ การสอบสวนจนทราบช่องทางการสัมผัสเชื้อไวรัส จะทำให้สามารถป้องกันการติดต่อของโรคได้ต่อไป
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ เยี่ยมชมฟาร์มสัตว์ หรือสถานที่เก็บผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ สำหรับคำแนะนำทั่วไปที่ควรปฏิบัติเมื่อไปเยี่ยมชมฟาร์มสัตว์ หรือสถานที่เก็บผลผลิตทางการเกษตร ควรรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล โดยการล้างมือเป็นประจำก่อนและหลังสัมผัสสัตว์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วย และรับประทานอาหารที่เตรียมอย่างถูกหลักสุขอนามัย
- องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้มีการคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ และการจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ แต่อย่างใด
บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะจาก สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
1.สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ( Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus ( MERS – CoV)) ประเทศไทย
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทยอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากมีประชาชนชาวไทยเดินทางไปแสวงบุญ และมีนักท่องเที่ยวจากประเทศแถบตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ตลลอดจนแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในอูฐ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการนำเข้าอูฐเพื่อการเลี้ยงและการจัดแสดงในสวนสัตว์ จำนวน 2 ประเภท คือ อูฐหนอกเดียว และอูฐ 2 หนอก โดยเป็นไปในลักษณะของการเลี้ยงกันในสวนสัตว์และที่ส่วนบุคคล ทั้งนี้ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดประชุมปรึกษา หารือ เรื่องแนวทางการเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในอูฐของประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่าในประเทศไทยมีอูฐทั้งหมดประมาณ 30 ตัว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอูฐในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
2. มาตรการการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012
- การเฝ้าระวังโรค โดยดำเนินการจัดระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควบคู่ไปกับ โรคไข้หวัดใหญ่ ( Influenza) และโรคไข้หวัดนก ( Avian Influenza)
- การรักษาพยาบาล ตามแนวทางการดูแลรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อ ในสถานพยาบาล ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ โดยการให้คำแนะนำประชาชนทั่วไป ผู้เดินทางไปแสวงบุญในประเทศแถบตะวันออกกลาง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ( http://beia.ddc.moph.go.th) และมีการให้ข้อมูลแก่เครือข่ายในหลายช่องทาง
- จัดทำหนังสือขอความร่วมมือดำเนินการเตรียมความพร้อม สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012
- การจัดทำข่าวกรองและประเด็นเพื่อการให้ข่าว เพื่อรายงานสถานการณ์ผู้บริหารและประชาชน
- การจัดทำแนวทาง การเก็บและการนำส่งตัวอย่างผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 การจัดทำแนวทางการวินิจฉัย/ดูแลรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ( Middle East respiratory syndrome coronavirus; MERS-CoV) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดทำการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล
- จัดการฝึกซ้อมแผน เตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในรูปแบบ Functional Exercise แบบ modified ระดับชาติ ในวันที่ 6 กันยายน 2556 และระดับกระทรวง
สาธารณสุข ในรูปแบบ Tabletop Exercise ในวันที่ 18 ตุลาคม 2556
- การดำเนินการจัดทำระบบการดูแลสุขภาพของผู้แสวงบุญ ทั้ง 3 ระยะ ( ระยะก่อนการเดินทาง ขณะอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย และหลังจากการประกอบพิธีฮัจญ์)
- จัดประชุมการจัดระบบเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ให้กับชาวไทยมุสลิมที่เดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
- จัดอบรม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลภาครัฐ และโรงพยาบาลเอกชน
- ประเมินความเสี่ยง และปรับมาตรการเป็นระยะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์
3. ข้อเสนอมาตรการของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในประเทศไทย
- เฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน ( SARI) อย่างต่อเนื่อง
- เน้นระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล
- ควรเก็บสิ่งส่งตรวจจากทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยอาการรุนแรง เพื่อให้มีโอกาสตรวจพบ
เชื้อได้มากขึ้น
4. คำแนะนำสำหรับประชาชน
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ หรือจาม
- ควรล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และ
หลังขับถ่าย
- ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการ
ติดโรค
- แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากป้องกันโรค ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม
- ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ กินร้อน ข้อนกลาง ล้างมือ
- เมื่อเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือพื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ควรรักษาสุขอนามัยทั่วไป เช่น ล้างมือเป็นประจำ
ก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย
5. การป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012
- สำหรับผู้เดินทาง/นักท่องเที่ยว
จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือ ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากท่านเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือพื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร หรือในพื้นที่ตลาดที่มีอูฐอยู่ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี โดยการล้างมือ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำนมดิบจากอูฐ หรือน้ำนมจากอูฐที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือกินอาหารที่ไม่สะอาด เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการล้าง ปอกเปลือก หรือปรุงให้สุก
- สำหรับประชาชนทั่วไป
สำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือพื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ควรรักษาสุขอนามัยทั่วไป เช่น ล้างมือเป็นประจำ ก่อนและหลังการสัมผัสสัตว์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วย และรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย
- สำหรับสถานพยาบาล
เพิ่มมาตรการในการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยในผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยที่รับการยืนยันการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปยัง ผู้ป่วยคนอื่น หรือบุคลากรทางการแพทย์ หรือญาติ/ผู้เข้าเยี่ยม ผู้ป่วยทุกรายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012
ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการรุนแรง บางรายมีอาการรุนแรงหรือผิดปกติ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุคลากร ทางการแพทย์ ควรระมัดระวังในการใช้มาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างเป็นมาตรฐานและต่อเนื่องกับผู้ป่วยทุกราย ตลอดเวลา โดยไม่ต้องคำนึงถึงการวินิจฉัยของโรค
องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เพิ่มความตระหนัก เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่ยังไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษบริเวณ
ทางเข้า-ออกประเทศ และไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทาง หรือกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานและคำแนะนำต่างๆ จะมีการปรับปรุงเป็นระยะให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบันได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค http://www.boe.moph.go.th หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
โปรดเข้าใจว่า HealthServ.net ไม่ได้เป็นสถานพยาบาล ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพด้านแพทย์ใดๆ จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาในด้านการแพทย์ การรักษาใดๆ ได้ในทุกๆ กรณี - HealthServ.net เป็นสื่อที่เสนอเนื้อหาด้านสุขภาพ ได้แก่ บทความ ข่าวสาร รวมถึง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแพคเกจ/บริการจาก รพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการต่างๆ ในประเทศไทย เท่านั้น รายละเอียดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับบริการ-ราคา-เงื่อนไข-วิธีการบริการ โปรดสอบถามไปยังรพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการนั้นๆ โดยตรง (ในส่วนของ รพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการ นั้น HealthServ ช่วยได้ในแง่ของข้อมูลติดต่อ สถานที่ตั้ง หรืออื่นๆ ที่เป็นข้อมูลทั่วไป)
HealthServ.net รวบรวมข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ แพคเกจโปรแกรมบริการสุขภาพ จากผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการเข้าถึงข้อมูล สำหรับใช้ในการตัดสินใจ เลือกใช้บริการสุขภาพได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด สำหรับตัวคุณและคนที่คุณห่วงใย
ข้อมูลที่เผยแพร่บนหน้านี้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ "วันที่ เวลา รายละเอียด ราคา เงื่อนไข ตลอดจน ภาพถ่าย ภาพประกอบ ภาพวาด ภาพเคลื่อนไหว ไฟล์และสื่อรูปแบบต่างๆ ฯลฯ" เป็นข้อมูลที่บันทึกไว้ ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ณ เวลาที่ท่านได้เข้าชมข้อมูลนี้
ดังนั้น โปรดตรวจสอบความถูกต้องกับบริษัท/หน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลการบริการหรือให้บริการนี้ อีกครั้ง ก่อนตัดสินใจ - เว็บไซต์ HealthServ.net ไม่รับประกันความถูกต้องของข้อมูลที่เปลี่ยนไป และไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิงในทุกกรณี