โหลด หมอพร้อม
28 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีการแถลงข่าว ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่าน Line Official Account “หมอพร้อม” โดยกล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนดังนี้
ระยะแรก
มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย ทั้งภาครัฐและเอกชน รวม 3.8 ล้านคน ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงขณะนี้ฉีดครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด รวมกว่า 1.2 ล้านโดส มีผู้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 1 ล้านคน และรับวัคซีนครบ 2 เข็มอีกกว่า 2 แสนคน
ระยะที่ 2
จะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยเริ่มฉีดให้แก่ประชาชน 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 4.3 ล้านคน ได้แก่
1) โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง
2) โรคหัวใจและหลอดเลือด
3) โรคไตวายเรื้อรัง
4) โรคหลอดเลือดสมอง
5) โรคมะเร็ง
6) เบาหวาน
7) โรคอ้วน
รวมทั้ง 2 กลุ่ม 16 ล้านคน 16 ล้านโดส เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูง
การลงทะเบียน
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์รับวัคซีนโควิด 19 ผ่านไลน์หมอพร้อมเวอร์ชัน 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หรือติดต่อนัดหมายที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)/อสม.ในพื้นที่ เพื่อจัดลำดับนัดหมาย
เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน-31 กรกฎาคมนี้
ระยะที่ 3
จะฉีดให้ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน ลงทะเบียนนัดหมายรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
“ขอให้มั่นใจรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ฉีดให้คนไทยทุกคน ภายในปี 2564 นี้ ซึ่งจะช่วยเสริมการป้องกันควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต” ดร.สาธิตกล่าว
คำแนะนำการลงทะเบียนหมอพร้อม
28 เมษายน 2564 สธ. ได้ทำการอัปเดตไลน์ “หมอพร้อม” เดิม เป็น "หมอพร้อม v.2 (เวอร์ชัน 2) โดยในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ได้เพิ่มฟังก์ชันใหม่ 12 ฟังก์ชั่นการใช้งานที่จำเป็น และ การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยเช่นกัน (กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว)
ขั้นตอนการลงทะเบียน
สำหรับไลน์ ทำได้ดังนี้
- ค้นหา "หมอพร้อม" แล้วทำกดเพิ่มเพื่อน (Add Friend)
- ลงทะเบียนการใช้งาน กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
*ผู้ใช้ต้อง กดยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน กดยินยอมให้หมอพร้อมส่งการเแจ้งเตือน กดรับทราบคำชี้แจงการรับวัคซีน
- หากมีข้อมูลในระบบแล้วให้ใส่เบอร์โทรศัพท์และกดบันทึก
หากไม่มีข้อมูลในระบบให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและกดบันทึก
จะมีข้อความแจ้งยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ
- จากนั้นกดเมนูจองฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อลงทะเบียนการฉีดวัคซีน นัดวันและเวลาฉีดวัคซีนที่สะดวก
- หากต้องการลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัว ให้กด “เพิ่มบุคคลอื่น” ที่เมนู “แก้ไขข้อมูลส่วนตัว” ซึ่งสามารถเพิ่มได้ไม่จำกัด แล้วค่อยเข้าเมนูจองฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อไป
- หากไม่สะดวกมาในวันนัดหมาย มีฟังก์ชันเปลี่ยนการนัดหมายการฉีดวัคซีนใหม่ ได้
หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ “หมอพร้อม” สอบถามได้ที่ 1422 หรือ 02 792 2333
การแจ้งเตือนก่อน-หลังการฉีด
- ก่อนฉีดวัคซีน 1 วันจะมีข้อความแจ้งเตือนให้มารับวัคซีนตามนัด
- หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว จะมีข้อความยืนยันการรับวัคซีน รวมถึงจะมีการส่งแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนหลังฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน
- สำหรับวัคซีนเข็มที่ 2 ระบบจะดำเนินการแบบเดียวกัน และมีการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
- หากไม่สะดวกในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านไลน์หมอพร้อม สามารถโทรนัดหมายได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อ อสม.ภายในหมู่บ้าน
ศักยภาพการฉีดวัคซีน
สธ. มีหน่วยบริการฉีดวัคซีนทั้งหมด 1,373 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 3 แสนคน หรือประมาณเดือนละ 10 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ตามเกณฑ์ปฏิบัติของกรมการแพทย์
ขั้นตอนการฉีด
การฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล มีขั้นตอนแบบเดียวกัน คือ กำหนดไว้ 5 จุด แต่ละจุดจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที ดังนี้
จุดที่ 1 ลงทะเบียน คัดกรอง ซักประวัติ
จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน
จุดที่ 3 ฉีดยา โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด
จุดที่ 4 สังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที
จุดที่ 5 รับใบนัดและให้คำแนะนำ
โดยรวมใช้เวลาในการรับวัคซีนประมาณ 35-40 นาที เท่านั้น
ดังนั้น เป้าหมาย 16 ล้านคน ในการฉีดรอบที่สอง สำหรับ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีและผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จึงสามารถเสร็จสิ้นได้ตามกำหนดแน่นอน
การกระจายวัคซีน
สำหรับการกระจายวัคซีน ดำเนินการโดย บริษัท DKSH ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยองค์การเภสัชกรรม จัดส่งด้วยระบบเก็บรักษาวัคซีนในอุณหภูมิที่ได้มาตรฐาน สามารถกระจายวัคซีนได้ครบทุกจังหวัดภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้โรงพยาบาลจึงไม่ต้องจัดหาอุปกรณ์เก็บรักษาวัคซีนที่มากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบติดตามการกระจายวัคซีนที่สามารถตรวจสอบแหล่งเก็บวัคซีนและสถานการณ์ขนส่งวัคซีนได้แม่นยำ ช่วยควบคุมการกระจายวัคซีนได้อย่างเป็นระบบ ส่วนกรณีการออกหน่วยให้บริการวัคซีน โรงพยาบาลที่ออกหน่วยต้องมีความพร้อมและปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน
ในส่วนของกรมควบคุมโรคมีแผนการกระจายวัคซีนเริ่มจาก 6 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน และเดือนละประมาณ 10 ล้านโดสในเดือนต่อ ๆ ไป โดยระยะแรกจะฉีดกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตคือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยได้ออกคู่มือแนวทางการบริหารจัดการให้วัคซีน มีการเตรียมระบบ cold chain ครอบคลุมต้นทางถึงปลายทาง มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีด ได้แก่ ไซริงและเข็ม ไว้พร้อม อุปกรณ์และกล่องขนส่งวัคซีน โดยมีการสั่งซื้อไซริงที่ลดการสูญเสียวัคซีน คือ low dead space syringe เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ถึง 11-12 โดส ช่วยทำให้บุคลากรสะดวกและปฏิบัติงานง่ายขึ้น ส่งผลดีเพิ่มจำนวนผู้รับวัคซีนครอบคลุมได้เร็วและมาก ซึ่งการรับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้อย่างน้อยร้อยละ 60-80 และจะลดโอกาสแพร่เชื้อได้ถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้มีระบบการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและแพทย์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยและให้ความเห็นสาเหตุการป่วยว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจน และดูแลความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแผนงานของประเทศไทย