องค์การอนามัยโลก ออกแถลงการณ์ถึงไวรัสออมิครอน ว่ามีโอกาสที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้สูง ขอให้นานาชาติเตรียมการรับมือ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากไวรัสตัวนี้ก็ตาม
"ไวรัสออมิครอนมีจำนวนหนามที่กลายพันธุ์ไปมากกว่าที่เคยพบในไวรัสตัวอื่น การกลายพันธุ์ในบางจุดน่ากังวลว่าอาจจะก่อให้เกิดการระบาดอีกได้" WHO ทิ้งท้ายถึงภาพรวมสถานการณ์ต่อออมิครอนว่า "เสี่ยงสูง" พร้อมระบุ ขณะนี้กำลังเร่งศึกษาว่าออมิครอน สามารถจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันทั้งที่เกิดจากวัคซีนและภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อ ได้จริงหรือไม่
ด้านนักวิทยาศาสตร์จากแอฟริกาใต้ ในทีมที่พบไวรัสออมิครอน กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าไวรัสตัวนี้จะก่ออาการรุนแรงมากแค่ไหน แต่ที่ชัดขึ้นแล้วคือไวรัสตัวนี้ แพร่กระจายได้เร็วกว่า
รายงานการพบเคสในแอฟริกาใต้ คาดว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 10,000 รายต่อวัน จากเพียง 300 รายต่อวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ นายโจ ฟาลา ให้ข้อมูลว่า "ไม่ควรตระหนก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะมากขึ้นก็ตาม ประเทศเราเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว" เขาหมายถึงการระบาดของไวรัสเบต้าเมื่อปลายปีก่อน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 พ.ย.64) มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 2,800 ราย เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 รายจากสัปดาห์ก่อน ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 รายต่อวันภายในสัปดาห์นี้ กดดันต่อโรงพยาบาลที่จะต้องเตรียมรับมือในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
กระนั้น รัฐมนตรีโจ ก็ยังย้ำว่าไม่ควรต้องตื่นตระหนก เพราะเขายังเชื่อในศักยภาพของประเทศที่จะจัดการภาวะนี้ได้ "เรามีประสบการณ์กับโควิดมาแล้ว 20 เดือน หลายสายพันธุ์ หลายระลอก แล้ว"
ขอนานาชาติ "ลด-เลิก" มาตรการจำกัดเดินทาง
ประธานาธิบดีซิริล รามาโปซา สื่อถึงนานาประเทศขอให้ยกเลิกหรือระงับมาตรการต่างๆที่เป็นการห้ามการเดินทางจากแอฟริกาใต้ เพื่อไม่ให้ประเทศสาหัสไปมากกว่านี้ พร้อมกล่าวว่า "ผิดหวังอย่างที่สุด" ต่อท่าทีที่นานาชาติสนองตอบ ต่อความจริงใจและโปร่งใสของแอฟริกาใต้ที่เปิดเผยรายงานการพบไวรัสตัวใหม่อย่างตรงไปตรงมา การสั่งห้ามบินหรือจำกัดการเดินทางไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
"แอฟริกาใต้กลายเป็นเหยื่ออย่างไร้ความยุติธรรม ข้อห้ามการท่องเที่ยว จะทำลายเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบ และจะยิ่งยากขึ้นไปอีกกับความพยายามเพื่อที่จะฟื้นตัวจากการระบาดที่เคยเกิดขึ้น"
เขากล่าวย้ำว่า "นานาประเทศควรกลับนโยบาย โดยด่วน ก่อนที่ความเสียหายจะมากไปกว่านี้" แอฟริกาใต้ จะไม่มีการกำหนดมาตรการจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะ "ให้คำปรึกษาด้านวัคซีนที่จำเป็นสำหรับแต่ละกิจกรรมและสถานที่" มาตรการที่ใช้อยู่ทั่วไปในแอฟริกาใต้ขณะนี้คือคำสั่งให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณ ห้ามการชุมนุมรวมกลุ่มเกิน 750 คนในสถานที่ปิด และไม่เกิน 2000 คนในพื้นที่กลางแจ้ง ด้านวัคซีน แอฟริกาใต้ไม่ได้ขาดแคลนวัคซีน ทางการมีนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
การระบาดที่เกิดขึ้นที่เมืองโกแตงรวมถึงในโจฮันเนสเบอร์กขณะนี้ เข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 ผู้ป่วยที่แอดมิทเข้ารพ.ส่วนใหญ่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
พบการระบาดในหมู่นักศึกษา
มีความกังวลในกลุ่มนักศึกษามากขึ้นว่าต่อไวรัสออมิครอน ที่พบในประเทศแอฟริกาใต้
Africanews รายงานว่า พบผู้ติด
เชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มนักศึกษา อ้างอิงจากคำบอกเล่าของนักศึกษารายหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคนิคเชวาเน่ (Tshwane University of Technology - TUT) ที่ให้ข้อมูลว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีนักเรียนติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก จนทางมหาวิทยาลัย ต้องประกาศเลื่อนการสอบ แต่ก็ไม่รู้จำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อว่ามีเท่าไหร่ รู้แต่ว่ามีมาก"
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นแรงกระตุ้นในกลุ่มนักเรียนด้วยกันให้ไปฉีดวัคซีนกันมากขึ้น
"จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นมากในรอบ 1-2 สัปดาห์ ที่ก่อนหน้ามีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 เคสต่อวัน แต่มาช่วงนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 300 เคสต่อวัน เพิ่มขึ้นหลายเท่า จุดแพร่ระบาดหนักๆ ก็คือในมหาวิทยาลัย TUT โดยเฉพาะ 4 โซนที่น่ากังวล ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับไวรัสตัวใหม่หรือไม่" โฆษกของเมืองชวาเน่ ให้ข้อมูลกับ Africanews
ขณะนี้ มีความชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า ไวรัสตัวใหม่ "ออมิครอน" นี้สามารถแพร่ได้อย่างรวดเร็ว แต่ในด้านความรุนแรงของอาการนั้น ยังไม่สามารถบอกได้
สถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อและมาตรการจำกัดการเดินทางของนานาประเทศ