23 กันยายน 2565 รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 12/2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
ประเด็นสำคัญที่สุดของการประชุมวันนี้ คือ มติยกเลิกการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศบค.)
ไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้รายงานถึง มติที่ประชุม ศบค.ถึงการยกเลิกการขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ว่า
"โดยที่มติที่ประชุม
ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 และ การขยายระยะเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในคราวที่ 19 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565
รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป"
กล่าวคือ ไม่มีการขยายระยะเวลาอีกต่อไป และจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน เป็นต้นไป
"พร้อมกันนั้น ถือว่าเป็นการสิ้นสุดหน้าที่ของ ศบค.เช่นกัน"
เหตุผลข้อเท็จจริง
โฆษก ศบค. ได้รายงานเพิ่มเติมถึงเหตุผลข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาของมติดังกล่าว ว่า
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมของโลกดีขึ้น แนวโน้มลดลง รวมถึงผู้เสียชีวิตลดลง ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมทั้งหลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับให้โควิด19 จากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และได้มีการจัดทำกรอบนโยบายแนวปฏิบัติของภาครัฐ เอกชนและประชาชนหลัง โควิด-19 เพื่อปรับเข้าสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อเนื่องกันมา ในระยะหลังทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ที่เกิดขึ้น
"ทำให้วันนี้มติที่ประชุม ได้ให้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ไม่ได้ขยายระยะเวลาอีก และจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนเป็นต้นไป ถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค."
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ดังนี้
- ผู้ป่วยรายใหม่ 752 ราย เสียชีวิต 9 ราย
- แนวโน้มของทั่วโลก ตลอดช่วงเวลาของโรคระบาด 2 ปี เกิดคลื่นระบาดใหญ่ 2 คลื่น เป็นคลื่นที่เกิดขึ้นในช่วงของอัลฟ่า เบต้า เดลต้า (ช่วงเมษายน 2564) และช่วงระบาดของ โอไมครอน (มกราคม 2565) หลังจากนั้นการระบาดลดลงจนถึงปัจจุบัน
- การใช้เตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงจาก 10.9% เมื่อเดือนกรกฎาคมลงมาเป็น 15.8% ในเดือนสิงหาคม