ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดีได้ทำงานประสานกับ ภาครัฐ เอกชน และองค์กรจิตอาสาในประเทศไทยเพื่อติดตามสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนม เป็นอีกหนึ่งแรงที่ร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนองค์กรสาธารณสุขของภาครัฐในการตรวจสอบสายพันธุ์ของ “ไวรัสโคโรนา 2019 นำเข้า” ที่อาจก่อปัญหาเกิดการระบาดในประเทศไทย ผ่านทาง 2 สนามบินหลักของประเทศ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง
สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
- จำนวนผู้เข้ารับบริการตรวจ RT-PCR (อาร์ที-พีซีอาร์) เฉลี่ยวันละประมาณ 200 คน
- วัตถุประสงค์ของการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยและประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน ส่วนมากจะไปยังประเทศอินเดีย, จีน ชาวต่างชาติประเทศอื่นจำนวนไม่มากที่ประสงค์จะตรวจ RT-PCR
- ตรวจพบไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณร้อยละ 1-5 จากสิ่งส่งตรวจทั้งหมด
- โดยพบค่า CT จากการดำเนินตรวจ RT-PCR มีค่าเฉลี่ย > 25 อันหมายถึงผู้ติดเชื้อมีจำนวนไวรัสในจมูกและช่องคอไม่มาก และส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ
สนามบินดอนเมือง ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
- จำนวนผู้เข้ารับบริการตรวจ RT-PCR (อาร์ที-พีซีอาร์) เฉลี่ยวันละประมาณ 70-90 คน
- วัตถุประสงค์ของการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยและจะเดินทางกลับบ้านซึ่งส่วนมากจะไปยังประเทศอินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น ชาวต่างชาติประเทศอื่นจำนวนไม่มากที่ประสงค์จะตรวจ RT-PCR
- พบค่า CT จากการดำเนินตรวจ RT-PCR เฉลี่ย > 25 อันหมายถึงผู้ติดเชื้อมีจำนวนไวรัสในจมูกและช่องคอไม่มาก ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ
การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนม
เนื่องจากค่า CT จากการทำ RT-PCR ส่วนใหญ่ในระยะนี้มีค่าสูง (25-30) กล่าวคือมีจำนวนไวรัสในสิ่งส่งตรวจน้อย ทำให้มีตัวอย่างส่งตรวจที่เข้าเกณฑ์ที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้จำนวนไม่มาก เนื่องจากต้องใช้ปริมาณไวรัสในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมมากระดับหนึ่งคือควรมีค่า CT ประมาณ 20 หรือต่ำกว่า
ผลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 10 ตัวอย่างสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้ 8 ตัวอย่างคือ
- BN.1 จำนวน 1 ราย
- BN1.2 จำนวน 3 ราย
- BM.2 จำนวน 2 ราย
- BA.5.2.1 จำนวน 1 ราย
- XBB.1 จำนวน 1 ราย
ไม่พบไวรัสอุบัติใหม่กลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ