แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นสาธารณสุขรูปแบบใหม่ (MOPH Plus) ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกกลุ่ม กรมการแพทย์ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ รวมทั้ง Digital Health การพัฒนางานดิจิทัล ได้แก่ ระบบ Smart Hospital, PHR ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล การให้บริการแพทย์ทางไกลครบวงจร (DMS Telemed) สำหรับการแพทย์ปฐมภูมิ กรมฯได้นำเอาระบบ Virtual Hospital มาใช้บริหารจัดการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กในโรคที่มีอาการคงที่ไม่เร่งด่วน เพื่อผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และ ลดการเดินทางมาโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการรับบริการ ลดความแออัด และความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ให้บริการรักษาผู้ป่วยเด็กทั้งโรคทั่วไป และผู้ป่วยโรคยุ่งยากซับซ้อนมานานกว่า 69 ปี โดยมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการมากกว่า 300,000 รายต่อปี หรือประมาณ 1,200 รายต่อวัน จึงสร้างความแออัด และไม่สะดวกแก่ผู้รับบริการ
เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว สถาบันฯ จึงเปิดให้บริการการรักษาพยาบาลที่บ้าน Virtual Hospital ตั้งแต่ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
วิธีใช้บริการ
- สแกนคิวอาร์โค๊ด ตามในภาพ
- หรือ คลิกลิงค์ นัดหมาย Virtual Hospital
- ไลน์ @qsnich
- สอบถามโทร 1415 ต่อ 2627 (8.00-16.00 น.)
ประโยชน์ของระบบ Virtual Hospital
ระบบ Virtual Hospital ใช้สำหรับการรักษาบนโลกออนไลน์เสมือนจริง ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถสนทนาโต้ตอบกันได้แบบ real time ทันเหตุการณ์ โดยเป็นการบริการแบบครบวงจร เสมือนเข้ารับการรักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยและผู้ปกครองสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดความแออัดและความเสี่ยงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยสถาบันฯ จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กทั้งที่เป็นผู้ป่วยเก่าและผู้ป่วยใหม่ ที่เข้าเงื่อนไขการเข้ารับบริการ และมีอาการคงที่ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวที่บ้านจะสามารถปรึกษาแพทย์ พยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีบริการเพิ่มเติม ได้แก่ การเจาะเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ จะมีบริการเจาะเลือดที่บ้านได้แล้ว อีกทั้งยังมีการแจ้งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการออนไลน์ การตรวจเลือดในกลุ่มโรคหายาก และการจัดส่งยาทางไปรษณีย์อีกด้วย