22 มกราคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการซ้อมแผนการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ที่ สนาม ฮ. ชั่วคราว โรงเรียนเกาะยาววิทยา อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โดย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดพื้นที่พิเศษนำร่องด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและพื้นที่เกาะ ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยือนประมาณ 2.61 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน พร้อมระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการ ที่มีมาตรฐานตามระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง
“ระบบ Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือในพื้นที่เกาะ อย่างเช่น อำเภอเกาะยาว จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้มีการจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor ให้ครบทุกเขตสุขภาพ เพื่อพร้อมช่วยเหลือทุกชีวิตให้ปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า จังหวัดพังงา ได้จัดเรือพยาบาล 5 ลำ ประจำจุดตามเกาะต่างๆ และมีจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ (Sky Doctor) กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ทั้งบนเกาะ และในเมืองรวม 9 แห่ง โดยมีระบบเชื่อมโยงกับเครือข่ายโรงพยาบาลระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การแพทย์เขาหลัก เป็นสถานบริการรองรับนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งในส่วนของการพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ ได้จัดอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS) ให้กับทีมปฏิบัติการจำนวน 6 ทีม ประกอบด้วย โรงพยาบาลพังงา 2 ทีม โรงพยาบาลตะกั่วป่า 2 ทีม ศูนย์การแพทย์เขาหลัก 1 ทีม และโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ 1 ทีม จึงมีความพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อรักษาด้วย Sky Doctor รวมทั้งการรับมืออุบัติภัยทางทะเลที่อาจเกิดขึ้น
โดยในปีงบประมาณ 2566 มีการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ จำนวน 2 ราย ไปยังโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลตรัง เป็นผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic dissection) ซึ่งการรักษาประสบผลสำเร็จดี