กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการติดโควิด 19 แห่งแรก รับผู้พิการที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการและช่วยเหลือตัวเองได้ รองรับได้ 224 เตียง เปิดดำเนินการวันที่ 1 มิถุนายนนี้
26 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมการจัดตั้ง รพ.สนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ
เปิดบริการวันที่ 1 มิถุนายน 64 รวม 224 เตียง
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิดแต่ละกลุ่มมีความต้องการการดูแลรักษาแตกต่างกัน โดยเฉพาะคนพิการที่ต้องการการดูแลมากกว่าคนทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับ อว.และพม.จัดตั้ง โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการเป็นแห่งแรก รับผู้พิการติดโควิดที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการและช่วยเหลือตัวเองได้ เปิดบริการวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ใช้พื้นที่ชั้น 5-10 ของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร รวม 224 เตียง นำ 11 นวัตกรรมของ สวทช.มาดูแล เช่น รถเข็นบังคับส่งของระยะไกล เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี เครื่องช่วยสื่อสารคนหูหนวก เป็นต้น
ติดต่อเข้ารับการรักษาผ่านสายด่วน 1668 มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดบุคลากรที่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการรับส่งผู้พิการที่ติดโควิดมาดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เนื่องจากปกติจะให้ผู้ติดเชื้อขึ้นรถเอง ไม่มีการแตะตัว แต่ผู้พิการ เช่น พิการทางสายตาต้องช่วยจูงขึ้นรถ ทำให้มีการสัมผัสใกล้ชิด นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ศบค.ให้จัดลำดับการให้วัคซีนโควิด 19 ในคนพิการทุกกลุ่ม โดยวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จะเริ่มฉีดวัคซีนให้คนพิการทางสายตาที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติเข้ามาช่วยวางระบบในการดูแลผู้พิการที่ติดเชื้อโควิด โดยโรงพยาบาลสนามมีห้องพักแบบ 4 เตียง ทำให้ผู้พิการและครอบครัวที่ติดเชื้อเข้าพักด้วยกันและดูแลกันได้ หากผู้พิการมาคนเดียวจะให้พักร่วมกับรายอื่นเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน เช่น พิการทางสายตาอาจพักกับผู้พิการด้านอื่นที่ไม่มีปัญหาสายตา เป็นต้น และจัดอุปกรณ์สนับสนุนการสื่อสารผู้พิการแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้พิการทางการได้ยินมีจัดระบบสื่อสารแบบเห็นภาพเพื่อให้สื่อสารภาษามือได้ เป็นต้น โดยโรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นต้นแบบพัฒนาดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป
กระทรวงสาธารณสุข
26 พฤษภาคม 2564