ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า “ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่สร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การเป็น Smart Hospital ในการดูแลรักษาพยาบาล ตลอดจนเป็นต้นแบบขององค์ความรู้ระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย
ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับรู้ถึงอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมาสักระยะหนึ่ง จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้ ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ ในหัตถการความงามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างได้เข้าถึงความรู้ และการตรวจวินิจฉัยภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะมีความรู้ความเข้าใจถึงการทำหัตถการความงามอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยประเทศไทยในปัจจุบัน การทำหัตถการความงามอย่างการฉีดสาร ‘โบทูลินัมท็อกซิน’ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้ารับบริการโดยที่อาจยังไม่มีความรู้ครอบคลุม และนำมาสู่ความเสี่ยงเกิดภาวะดื้อโบได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีความต้องการใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อการรักษาโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อในอนาคต”
จากความท้าทายของตัวเลขเคสดื้อโบที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับ รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตของผู้บริโภคที่สงสัยเรื่องภาวะดื้อโบ ด้วยการริเริ่มก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน โดยการคิดหาวิธีทดสอบวัดปริมาณแอนติบอดี หรือ ภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเกิดความล้มเหลว รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยประสบภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าเดิม
ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชา ตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “ภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้เป็นที่จับตาในวงการแพทย์เท่าไรนัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งจากตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ทั้งนี้ ในตัวเลขดังกล่าว สามารถจำแนกได้ว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 48% ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 18% และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8% จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้นต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น ในฐานะแพทย์ จึงอยากแนะนำให้คนไข้เลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบในอนาคต”
รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวเสริมว่า “การทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก จนสามารถนำมาให้บริการทางคลินิกในการช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีดโบทูลินัมท็อกซินของคนไข้ว่าเคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ลักษณะการไม่ตอบสนอง เพื่อหาแนวทางการรักษาของคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษาหรือเลือกโบทูลินัมท็อกซินได้ อย่างเหมาะสม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาฉีดได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย”
ในการก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จับมือร่วมกับ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย บริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องอัลเทอร่า และเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงาม ในการริเริ่ม “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาภาวะดื้อโบได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการมารับการทดสอบที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ทางบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย โดยร่วมมือกับพันธมิตรคลินิกความงามมากกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในการสร้างเครือข่ายในการช่วยเก็บข้อมูล และตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบ รวมถึงการนำส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินในขั้นตอนถัดไป และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไปอีกด้วย
ภญ.กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประสานงานจัด “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” ร่วมกับศิริราชพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นจากความห่วงใยของเราต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ที่ปัจจุบันความนิยมเข้ารับการทำหัตถการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเพื่อเสริมความงามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงอยากมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะดื้อโบออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่เพื่อให้ความรู้เรื่องภาวะดื้อโบและคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน”
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับภาวะดื้อโบ สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง เมิร์ซ บิวตี้คอนเน็กท์ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-1111 หรือ ไลน์ไอดี @merzbeautyconnect เพื่อเข้ารับการปรึกษาในเบื้องต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700