กัญชงยังจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ดังนั้น การปลูกต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเสียก่อน โดยทำตาม “กฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
ใครบ้างที่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ ?
1.บุคคลธรรมดา
(ก) มีสัญชาติไทย
(ข) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(ค) มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(ง) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(จ) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(ฉ) ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
(ช) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหยหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2.นิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย
(ก) ต้องมีลักษณะตาม 1. (จ) (ฉ) และ (ช)
(ข) ผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลต้องมีลักษณะตามบุคคลธรรมดา
(ค) กรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสองในสามเป็นผู้มีสัญชาติไทย
(ง) มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย
3.วิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล
- มีลักษณะเดียวกับบุคคลธรรมดา
4.หน่วยงานของรัฐ
- ต้องมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชงตามภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ
การขออนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง ?
วัตถุประสงค์ในการขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) มี 6 วัตถุประสงค์ ได้แก่
1. เพื่อประโยชน์ตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นภารกิจตาม 2, 3, 4, 5 หรือ 6 ให้หน่วยงานของรัฐขออนุญาตตามวัตถุประสงค์นั้น แล้วแต่กรณี
2. เพื่อการใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น ทั้งนี้ มีพื้นที่ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งไร่
3. เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม
4. เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์
5. เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์
6. เพื่อประโยชน์ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง
ส่วนการขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกซึ่งกัญชง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อ 1, 3, 4, 5 หรือ 6 โดยไม่รวมการใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี
เอกสารที่ต้องเตรียม
1. แบบคำขอรับอนุญาต (แบบกัญชง 1)
2. แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์
3. แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูกและเส้นทางการเข้าถึง
4. หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิทธิครอบครอง
5. แบบแปลนอาคารโรงเรือน และภาพถ่าย
6. เอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่น ๆ
หมายเหตุ: ในการขออนุญาตต้องชี้แจงที่มาของเมล็ดพันธุ์กัญชง ว่าผู้ขออนุญาตใช้พันธุ์อะไรและแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์จากที่ไหน หากผู้ขออนุญาตจะใช้เมล็ดพันธุ์กัญชงจากของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สามารถติดตามขั้นตอนการขอซื้อเมล็ดได้จาก
hrdi.or.th/PublicService/HempInfo
วิธีการดำเนินการขออนุญาตทำอย่างไร?
กรณีผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง
1.สถานที่ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
- ยื่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย.
2. .สถานที่ผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่น
- ยื่นที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
กรณีนำเข้าหรือส่งออกกัญชง
1.สถานที่นำเข้าหรือส่งออกตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น
- ยื่นที่ เดียวกัน คือที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย.
ขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตของ อย.
มีดังนี้
1. ตรวจสอบคำขอและสถานที่
- กรุงเทพฯ ผู้ตรวจสอบ คือ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยาเป็น
- จังหวัดอื่น ผู้ตรวจสอบ คือ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสารธารณสุขจังหวัด
2.เสนอคณะกรรมการพิจารณา ใน 2 คณะกรรมการได้แก่
- คณะกรรมการระดับจังหวัด
- คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ
3. ออกใบอนุญาตโดยกระทรวงสาธารณสุข
เขียน / เรียบเรียงเรื่อง และภาพโดย:
ดร.รัตญา ยานะพันธุ์
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)