สถาบันอาหาร (nfi) - วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน วิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามความร่วมมือ วิจัย พัฒนาและแปรรูปพืชกัญชง กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน, วิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับกลางน้ำหรือกึ่งวัตถุดิบ (Intermediate Product) จากกัญชง กัญชา ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มกัญชง กัญชาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเข้าสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรม
วันนี้ (10 ก.พ. 2564) นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และ นายโยชัย ศศิวรรณ ผู้บริหารวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ นายธนารัตน์ จิตต์พายัพ รองประธานวิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทั้ง 3 ฝ่าย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การวิจัย พัฒนาและแปรรูปพืชกัญชง กัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร” ระหว่าง สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน วิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารของทุกฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องอมรินทร์ชั้น 3 ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวิจัยการสกัดสารสกัดและสารสำคัญจากกัญชง พัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปส่วนต่างๆ ของกัญชงเป็นผลิตภัณฑ์ระดับกลางน้ำหรือกึ่งวัตถุดิบ (Intermediate Product) รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากกัญชงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม และการพัฒนาโซ่อุปทานกัญชงเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงเกษตรกรและอุตสาหกรรมกับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ รวมถึงความร่วมมือด้านพืชกัญชาตามกรอบที่กฎหมายกำหนด โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการตกลงทำความร่วมมือในครั้งนี้ คือ 1) การร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับกลางน้ำหรือกึ่งวัตถุดิบ (Intermediate Product) จากกัญชง กัญชาให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร และ 2) ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มกัญชง กัญชาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง กัญชาสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรม
.
ความร่วมมือดังกล่าว เกิดขึ้นตามมติการประชุมคณะกรรมการสถาบันอาหารครั้งที่ 3/2563 วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563 โดยคณะกรรมการสถาบันอาหารมีมติอนุมัติงบลงทุนสำหรับการเตรียมพร้อมปรับปรุงพื้นที่และอุปกรณ์ เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านการพัฒนาพืชเศรษฐกิจสู่เชิงพาณิชย์ในสถาบันอาหาร และในปีงบประมาณ 2564 สถาบันอาหารได้รับงบประมาณอุดหนุนผ่านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเพื่อตอบสนองเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
10 กุมภาพันธ์ 2564