26 มกราคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมนำเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม และผู้บริหารหน่วยงาน/องค์กรในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ภาพรวมกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำว่า ขอให้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ใช้เม็ดเงินภาษีให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเกิดความคุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด และมุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแนวทางเศรษฐกิจสุขภาพ Health for Wealth ที่จะเป็นแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ ปรับระบบบริการสุขภาพโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และลดความแออัด โดยจะขับเคลื่อนงานผ่านประเด็นหลัก 6 เรื่อง คือ เศรษฐกิจสุขภาพและนวัตกรรมการแพทย์, การปรับตัวสู่สังคมสูงอายุคุณภาพ, การพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการจ้างงานรูปแบบใหม่, การเรียนรู้จากโควิด 19 เพื่อพลิกโฉมสาธารณสุข ยืดหยุ่นต่อวิกฤตและภัยอุบัติใหม่, งานบริการระบบปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และ Digital Health เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ระบบการแพทย์ทางไกล
คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีวงเงินคำขอรวมทั้งสิ้น 437,131.4 ล้านบาท แบ่งเป็น
- คำขอของหน่วยงานในสังกัด 10 กรม 219,652 ล้านบาท
- กองทุนในกำกับ 3 กองทุน 214,362 ล้านบาท
- องค์การมหาชน 6 หน่วยงาน 3,117 ล้านบาท
จำแนกเป็นหมวดงบประมาณ ดังนี้
- งบด้านบุคลากร 124,480 ล้านบาท
- งบดำเนินการ 30,824 ล้านบาท
- งบลงทุน 30,160 ล้านบาท
- งบอุดหนุน 32,708 ล้านบาท
- งบรายจ่ายอื่นๆ 1,480 ล้านบาท
โครงการสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น
- ผู้สูงอายุ วงเงิน 155.58 ล้านบาท
- ยาเสพติด วงเงิน 3,341.80 ล้านบาท
- สุขภาพปฐมภูมิ/อสม. วงเงิน 27,606.89 ล้านบาท
- Digital Health วงเงิน 1,248.80 ล้านบาท
- Medical Hub วงเงิน 162.99 ล้านบาท
ในส่วนของงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 ได้เสนอขอเพิ่มขึ้นจากอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2566 จำนวน 3,385.98 บาท ต่อหัวประชากร เพิ่มขึ้นในปี 2567 เป็นจำนวน 3,440.51 บาทต่อหัวประชากร เพื่อให้หน่วยบริการได้นำมาดูแลสุขภาพของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า คำของบประมาณในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวม 154,572.2 ล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากงบรายจ่ายด้านบุคลากร จะเป็นงบประมาณที่ใช้เพื่อการดูแลประชาชน โดยเฉพาะงบลงทุน ที่นำมาใช้พัฒนาสถานพยาบาลและระบบบริการสุขภาพต่างๆ เช่น ก่อสร้างอาคารบริการ ระบบบำบัดน้ำเสีย จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงงบดำเนินการที่ใช้ในการรองรับโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนที่นำมาใช้ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ทั้งการจัดซื้อครุภัณฑ์ ด้านการศึกษา การแพทย์ ยานพาหนะ และสิ่งก่อสร้าง เพื่อพัฒนาระบบการผลิตแพทย์ออกไปดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ และงบลงทุนด้านครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ อาทิ ระบบเทเลเมดิซีน ระบบข้อมูลสุขภาพ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นภาพรวม ประชาชนสามารถนำข้อมูลสุขภาพตนเองไปใช้หรือไปรับบริการได้สะดวก