การติดต่อของโรค
โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ข้อสำคัญคือ โรคนี้จะติดต่อกันได้ง่าย เพียง การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก เสมหะ น้ำลายของผู้ป่วย หรือทางการหายใจ เชื้อสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศได้ภายในรัศมี 3 ฟุต ผ่านทางการไอหรือจาม
ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นซ้ำได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสตัวนี้มีหลายพันธุ์
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV
อาการจะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาคือ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล ไข้จะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำๆ ก็ได้ กรณีโรคไม่รุนแรง มักหายป่วยใน 1-2 สัปดาห์
กรณีโรคมีความรุนแรงมากขึ้น สังเกตจากอาการ เช่น ไอมาก มีเสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว อกบุ๋ม ได้ยินเสียงผิดปกติ หายใจมีเสียงดัง ควรรีบมาพบแพทย์
อาการในเด็กเล็ก จะมีอาการจำเพาะที่มักพบ คือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง
โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาการและความรุนแรงอาจแตกต่างกันไป ตามวัย
คนวัยผู้ใหญ่ ที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไป จะมีโอกาสป่วยรุนแรงจากการติดเชื้ออาร์เอสวีน้อยมาก
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น และมีโอกาสเกิดการติดเชื้อระบบหายใจส่วนล่างได้มากกว่า อาจเกิดอาการปอดบวม การหายใจลำบาก และเสียชีวิต ได้มากกว่า
ในเด็กเล็ก อาจมีอาการกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรค RSV ควรติดตามเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด และพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรง
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาสำหรับโรคติดเชื้อไวรัส RSV จึงเน้นการรักษาไปตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้มาก รักษาความอบอุ่นของร่างกาย เป็นต้น
โรคนี้ไม่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การพักผ่อนที่เพียงพอ ทานอาหารเป็นประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยให้หายโรคได้เร็วขึ้น
ที่สำคัญต้องแยกตัว ลดการสัมผัสกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ หมั่นทำความสะอาดมือ ล้างมือ อาบน้ำ เลี่ยงไปสถานที่ชุมชนหรือการชุมนุม หรือมีคนมาก
คำแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษา
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ขอแนะนำผู้ปกครองและสถานศึกษาควรสังเกตอาการบุตรหลาน และเด็กนักเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อและการไปในสถานที่ที่ ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
การป้องกันโรค
- ยังไม่มีวัคซีน
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด
- ไม่ให้เด็กเล่นคลุกคลีกับเด็กที่เป็นหวัด
- เด็กที่อยู่ในห้องแอร์ หรือในที่อากาศเย็นให้สวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้ความอบอุ่นเพียงพอ
- ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้กว่าร้อยละ 80
- หากมีเด็กป่วยในบ้านหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีกันและแยกเครื่องใช้เด็กที่ป่วยออกต่างหาก
- การป้องกันเด็กป่วยจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิดโดยแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางนม เด็กก็จะไม่ป่วยง่าย