นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อกังวลถึงผลกระทบจากการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ทำให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและวัยรุ่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการกำกับดูแลนั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งมีประวัติการบริโภคเป็นอาหาร เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค ซึ่ง อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติตามมาตรการเดียวกัน คือ
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ที่บรรจุในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย จัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ต้องกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการอนุญาตอย่างเข้มงวด
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ต้องมีความปลอดภัย โดยมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น จุลินทรีย์ก่อโรค สารปนเปื้อน สารพิษตกค้าง
- ที่สำคัญ คือ ต้องมีปริมาณ THC ไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด จากการประเมินความปลอดภัย ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยมีผลวิเคราะห์ยืนยัน
- บังคับให้แสดง คำว่า “กัญชา” หรือ “ส่วนของกัญชา" ที่ใช้บนฉลากอย่างชัดเจนในส่วนของชื่ออาหารและส่วนประกอบ รวมถึงแสดง คำเตือน และข้อแนะนำในการบริโภค เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ได้รับเลขสารบบอาหาร จะมีความปลอดภัยเมื่อบริโภคตามคำแนะนำ
สำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่แสดงถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องได้รับอนุญาตก่อนทุกราย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือส่งเสริมการใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ อย. ยังมีการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพและการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ของอาหาร ไม่ให้เป็นการโฆษณาที่เกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค และดำเนินคดีกับผู้ที่ ฝ่าฝืนกฎหมาย
สังเกตฉลากก่อนซื้อ
เลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องแสดง ข้อมูลดังนี้
- เลขสารบบอาหาร
- ชื่ออาหาร
- แสดงชื่อส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงหรือสารสกัด แคนนาบิไดออล (CBD)
- แสดงข้อความ “คําเตือน” ด้วยตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 1.5 มม. ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของตัวอักษรตัดกับสีของพื้นกรอบ และสีกรอบตัดกับสีของพื้นฉลาก ระบุข้อความ
• “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
• “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
• “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน” และ
• “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพในทางบำบัดรักษา
สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย.
www.fda.moph.go.th หัวข้อ
ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และหัวข้อ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา
หากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือ ไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร 1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ