ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ติดตาม “พายุเซินกา” ใกล้ชิด รพ.อินทร์บุรียังบริการปกติ น้ำท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ

สธ.ติดตาม “พายุเซินกา” ใกล้ชิด รพ.อินทร์บุรียังบริการปกติ น้ำท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ HealthServ.net
สธ.ติดตาม “พายุเซินกา” ใกล้ชิด รพ.อินทร์บุรียังบริการปกติ น้ำท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ ThumbMobile HealthServ.net

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เซินกา” เฝ้าระวังสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมแผนป้องกันอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ สำรองยา เวชภัณฑ์ และจัดหาพื้นที่ให้บริการสำรอง ไม่ให้กระทบการบริการประชาชน ส่วนสถานการณ์ที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี ขณะนี้ยังคงให้บริการได้ตามปกติ ด้านสถานการณ์น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี และ จ.ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบต่อการบริการประชาชน สถานบริการในพื้นที่เตรียมแผนรองรับหากเกิดกรณีฉุกเฉินแล้ว พร้อมจัดทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมต่อเนื่อง มอบยาและเวชภัณฑ์ และจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเรื้อรังถึงบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

   

เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุ เซินกา 


         15 ตุลาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบสะสม 443,979 ครัวเรือน มีการเปิดศูนย์อพยพใน 13 จังหวัด รวม 202 แห่ง ส่วนสถานบริการได้รับผลกระทบสะสม 221 แห่ง ได้แก่ สสจ. 1 แห่ง รพ. 15 แห่ง สสอ. 8 แห่ง รพ.สต. 192 แห่ง ศสม. 5 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 171 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 18 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 32 แห่ง ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนเรื่องพายุโซนร้อน เซินกา (SONCA) ที่จะส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักและลมแรงในจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จึงขอให้สถานบริการในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมป้องกันอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบ จัดหาพื้นที่ให้บริการสำรอง ในกรณีที่สถานบริการไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เตรียมแผนการอพยพและระบบการส่งต่อผู้ป่วย สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ รวมถึงเตรียมพร้อมดูแลประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
 
 
          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ของโรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วันนี้ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล ว่า ระดับน้ำยังทรงตัวสูงกว่าระดับพื้นด้านหน้าโรงพยาบาลประมาณ 30-40 เซนติเมตร ได้ใช้กระสอบทรายกั้นเป็นแนวกำแพงป้องกัน แต่ยังพบปัญหาน้ำผุดใต้ดิน จึงต้องขุดบ่อในจุดที่ต่ำที่สุดเพื่อกักเก็บน้ำและทำการสูบน้ำออกเพื่อรักษาระดับ ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในโรงพยาบาล ขณะนี้ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ แต่มีการปรับรูปแบบการให้บริการ โดยจัดตั้งศูนย์บริการบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล (ถนนชัยนาท-สิงห์บุรี 311) และบริเวณลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้าโลตัส ตลาดอินทร์บุรี ให้บริการทำแผลและจ่ายยาให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ได้จัดรถรับ-ส่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งประสานกับรพ.สต.จัดส่งยาให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้านเพื่อป้องกันการขาดยา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยออกจากบ้านและมีปัญหาในการเดินทาง
 
 
          นอกจากนี้ เนื่องจากน้ำมีปริมาณมาก รถใหญ่ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โรงพยาบาลจึงปรับเปลี่ยนการขนส่งถังออกซิเจนจากขนาดใหญ่เป็นขนาดเล็กแทน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดูแลรักษาคนไข้ และหากน้ำเข้าท่วมโรงพยาบาลจะใช้แผนระดับจังหวัด เคลื่อนย้ายและรับส่งต่อผู้ป่วย โดยกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่รุนแรง จะส่งต่อโรงพยาบาลคู่ขนานที่อำเภอบางระจัน กรณีเจ็บป่วยรุนแรง จะส่งต่อโรงพยาบาลสิงห์บุรี แต่หากโรงพยาบาลสิงห์บุรีมีน้ำท่วม จะประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสระบุรีและโรงพยบาลลพบุรีต่อไป 
สธ.ติดตาม “พายุเซินกา” ใกล้ชิด รพ.อินทร์บุรียังบริการปกติ น้ำท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ HealthServ
 



น้ำท่วมอุบลฯ - ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ เตรียมแผนรับกรณีฉุกเฉินแล้ว พร้อมส่งทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยต่อเนื่อง

 

    11 ตุลาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด สถานบริการได้รับผลกระทบสะสม 181 แห่ง ได้แก่ สสจ. 1 แห่ง รพ. 13 แห่ง สสอ. 8 แห่ง รพ.สต. 154 แห่ง ศสม. 5 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 131 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 27 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 23 แห่ง โดยปรับรูปแบบไม่ให้กระทบต่อการบริการ และจัดส่งทีมปฏิบัติการเชิงรุกลงไปให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง 482 ทีม ให้บริการเยี่ยมบ้าน ตรวจรักษา แจกยาชุดน้ำท่วม รวม 82,155 ราย และประเมินคัดกรองสุขภาพจิต 23,315 ราย พบ ภาวะเครียด 3,194 ราย ภาวะซึมเศร้า 201 ราย และภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 ราย ได้ให้การดูแลแล้ว


 
        นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 9 อำเภอแล้ว พร้อมแจกจ่ายยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 20,000 ชุด และยาน้ำกัดเท้า 3,000 หลอด และให้บริการจัดส่งยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้าน จำนวน 200 คน เพื่อให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานบริการที่ได้รับผลกระทบทั้ง 8 แห่ง ได้ทำการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ ไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว มีสถานบริการ 4 แห่ง ที่ต้องปิดให้บริการ และย้ายไปตั้งจุดให้บริการในหมู่บ้าน, วัด, สนามกีฬา และสถานีบริการน้ำมัน ส่วนที่มีภาพเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ช่วยกันขนกระสอบทรายนั้น ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า เป็นการเตรียมการป้องกันถังเก็บน้ำของโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายและไม่ให้เกิดผลกระทบกับบริการ ขณะนี้โรงพยาบาลยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ เพียงแต่กำหนดจุดทางเข้าออกของโรงพยาบาลใหม่ และได้เตรียมแผนลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศหากเกิดน้ำท่วมในโรงพยาบาล โดยประสานกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 21 อุบลราชธานี ไว้แล้ว และในวันนี้จะมีการแถลงการณ์ระดับจังหวัดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด
 
 
       สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ว่า สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านดอนสัมพันธ์ รพ.สต.บ้านเกาะแก้ว และรพ.สต.ศรีสว่าง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้บางส่วน สำนักสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดทีมออกให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เยี่ยมบ้าน จ่ายยา และล้างแผลให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ และมอบยาชุดผู้ประสบภัยให้กับ 8 อำเภอแล้ว จำนวน 500 ชุด นอกจากนี้ ชมรมเภสัชกร แพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ได้ร่วมกันผลิตสมุนไพรรักษาน้ำกัดเท้า แจกจ่ายประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้น และยังได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 และศูนย์อนามัยที่ 7 อาทิ รองเท้าบู๊ทแบบสั้นและแบบยาว, สารส้ม, ส้วมเก้าอี้, ยาสามัญประจำบ้าน และยาทากันยุง เป็นต้น ส่วนที่มีข่าวว่าชาวบ้านบ้านดอนโมง ต.ท่าหาดยาว อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบน้ำท่วมนานกว่า 3 สัปดาห์และต้องการยาน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้านนั้น ในวันนี้ นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายสมพงษ์ สุดขัน สาธารณสุขอำเภอโพนทราย และคณะเจ้าหน้าที่ รพ.โพนทราย ได้ลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจรักษาโรคและคัดกรองสุขภาพจิต ที่บ้านดอนโมง หมู่ 3 และหมู่ 5 ต.ท่าหาดยาว มีผู้เข้ารับบริการ 50 ราย และได้แจกจ่ายยาสามัญประจำบ้านให้แก่ประชาชน 282 หลังคาเรือน
 
 
        ทั้งนี้ ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้กับพื้นที่ที่ได้รับกระทบ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 11,900 ชุด ชุดเวชภัณฑ์ป้องกันควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉิน 8 รายการ 2,400 ชุดและรองเท้าบู๊ท 2,304 คู่ และยังจัดสรรงบประมาณให้เขตสุขภาพจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างรวดเร็ว 
สธ.ติดตาม “พายุเซินกา” ใกล้ชิด รพ.อินทร์บุรียังบริการปกติ น้ำท่วมอุบลฯ-ร้อยเอ็ด ยังไม่กระทบบริการ HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด