ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

อนุทินติดโควิด หลังกลับจากประชุม ปารีส-เจนีวา

อนุทินติดโควิด หลังกลับจากประชุม ปารีส-เจนีวา HealthServ.net
อนุทินติดโควิด หลังกลับจากประชุม ปารีส-เจนีวา ThumbMobile HealthServ.net

ปลัดสธ.เผย คณะผู้แทนไทยกลับจากราชการต่างประเทศพบติดโควิดอาการเล็กน้อย แพทย์สั่งแยกตัว เพื่อความปลอดภัย 1 สัปดาห์ ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นลดความรุนแรงได้


 
             ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ICEB) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 170 ของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE 170th General Assembly) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2565 เพื่อร่วมนำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ ที่จังหวัดภูเก็ตในปี 2028 (Specialised Expo) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเดินทางต่อพร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร UNAIDS ครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 21 -24 มิถุนายน 2565 ต่อ
 
 
           ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อและระคายคอ ผลตรวจ ATK เป็นบวก ขณะนี้แพทย์สั่งแยกตัวเพื่อความปลอดภัย 1 สัปดาห์
 
 
             28 มิถุนายน 2565 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางกลับจากปฏิบัติราชการต่างประเทศมาถึงประเทศไทย มีอาการเล็กน้อย คือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและระคายคอ ได้ตรวจ ATK พบผลบวก

             จากการสอบสวนโรคคาดว่า ได้รับเชื้อระหว่างการไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ เพราะต้องมีการพบปะ พูดคุย และสัมผัสมือกับผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

             อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ครบตามเกณฑ์ที่แนะนำก่อนการเดินทาง ทำให้ไม่มีอาการป่วย แพทย์สั่งแยกตัวเพื่อความปลอดภัย 1 สัปดาห์ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

             สำหรับผู้ร่วมเดินทางหากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้สวมหน้ากากตลอดเวลา งดไปในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนจำนวนมากและสังเกตอาการป่วย หากเริ่มมีอาการทางเดินหายใจให้ตรวจ ATK และดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์


 
             ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบต่อนโยบายรัฐบาลที่กำลังเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากประชาชนในประเทศฉีดวัคซีนแล้วประมาณร้อยละ 80 มีระบบการเฝ้าระวังป้องกัน ทั้งในสถานพยาบาลและพื้นที่เสี่ยง แนะนำการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่ผู้คนแออัดหรือเมื่อทำกิจกรรมเสี่ยง


             ทั้งนี้ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขรองรับได้ปกติ เพราะมีเตียงพอ หมอพอ และยาพอ และเน้นย้ำให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 % แต่ป้องกันการป่วยที่มีอาการหนักได้ 
   
 

ประชุมองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE 170th General Assembly) ที่กรุงปารีส


           20 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เดินทางมาเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 170 ของสำนักงานองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE 170th General Assembly) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2565 เพื่อร่วมนำเสนอความพร้อมของประเทศไทย (Country Presentation) ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ (Specialised Expo) ที่จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน EXPO 2028 – Phuket, Thailand ในนามรัฐบาลไทย ซึ่งครั้งนี้ยังมีประเทศที่เสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงานอีก 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และสเปน 
 
           ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ยื่นเสนอเป็นเจ้าภาพการจัดงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นำส่งเอกสารทางเทคนิคในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะมีการนำเสนอความพร้อมของประเทศจำนวน 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 และทาง BIE จะเริ่มสำรวจพื้นที่การจัดงาน 2 ครั้ง โดยจะสำรวจครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะประกาศผลประเทศที่ได้รับคัดเลือกช่วงเดือนมิถุนายน 2566 หากประเทศไทยชนะการคัดเลือกจะใช้เวลาจัดเตรียมงาน 4 ปี ระหว่างปี 2567-2570 โดยมีกำหนดการจัดงาน ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม -17 มิถุนายน 2571 รวมระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง TCEB ประเมินว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงาน 4.93 ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ 54 และชาวต่างชาติร้อยละ 46 มีรายได้จากการจัดงาน 3,312 ล้านบาท เกิดเงินสะพัดทางเศรษฐกิจระหว่างช่วงเวลาจัดงานราว 49,231 ล้านบาท ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 39,357 ล้านบาท มีรายรับจากการเก็บภาษี กระตุ้นการจ้างงาน มีความคุ้มค่าในการลงทุนถึง 9 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนนวัตกรรมทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพในอนาคต
 
            “ทันทีที่เดินทางมาถึง ได้มีการซักซ้อมการนำเสนอความพร้อมของประเทศไทย และวันนี้มีการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนนำเสนออีกครั้ง ซึ่งจะนำเสนอความพร้อมในการจัดงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงจะมีการหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส เรื่องแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub และส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพด้วย” นายอนุทินกล่าว 


อนุทินติดโควิด หลังกลับจากประชุม ปารีส-เจนีวา HealthServ
 

ประชุมคณะกรรมการบริหาร UNAIDS ครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส


           วันที่ 21 -24 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม ประชุมคณะกรรมการบริหาร UNAIDS ครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส  ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ซึ่งในปีนี้มีการประชุม 2 ครั้ง คือ การประชุมครั้งที่ 50 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และการประชุมครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2565 


          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อการยุติปัญหาโรคเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยย้ำการดำเนินการสำคัญ 3 เรื่อง คือ

          1.การแก้ไขปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับโรคเอดส์ และจะเป็นผู้นำในอนาคต โดยในช่วงการอภิปราย ในวันที่ 24 มิถุนายน จะมีการหารือเกี่ยวกับการศึกษาและการเสริมพลัง (empower) ให้แก่กลุ่มนี้
 
          2.การจัดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมการบริการป้องกันรักษาโรคเอดส์ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีภาระทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงเป้าหมาย 95-95-95 คือ คนที่ติดเชื้อต้องรู้สถานะการติดเชื้อ 95% คนรู้สถานะการติดเชื้อต้องได้รับการรักษา 95% และคนได้รับการรักษาต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 95% และ 3.การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ (Stigma and discrimination) ในทุกรูปแบบ ทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษา ที่ทำงาน และในชุมชน รวมทั้งมีกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
 
          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธาน UNAIDS PCB คือ 1.การศึกษาดูงานการดำเนินงานด้านเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย 2.ประเด็น Thematic Segment มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวีอย่างครอบคลุม เช่น การลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ข้อปฏิบัติในการป้องกัน การดูแลรักษา และอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์ เพศศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน และ 3.การขับเคลื่อนประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในการเป็นประธาน เช่น การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ, การขับเคลื่อนโดยชุมชน (community-led action) นอกจากนี้ ตนจะย้ำความจำนงขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 51 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ที่ประเทศไทยด้วย


 
           สำหรับ UNAIDS ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยมี Programme Coordinating Board (PCB) เป็นคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีองค์ประกอบจาก ผู้แทนภูมิภาคต่างๆ 22 ประเทศ UN Cosponsoring Agencies 11 องค์กร ได้แก่ UNHCR, UNICEF, WFP, UNDP, UNFPA, UNODC, UN WOMEN, ILO, UNESCO, WHO, the World Bank และภาคประชาสังคมที่มีบทบาทภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ จำนวน 5 องค์กร
 
อนุทินติดโควิด หลังกลับจากประชุม ปารีส-เจนีวา HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด