ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรมแพทย์แผนไทยฯ เอาจริง เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายสมุนไพรควบคุม (กัญชา)

กรมแพทย์แผนไทยฯ เอาจริง เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) HealthServ.net
กรมแพทย์แผนไทยฯ เอาจริง เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ThumbMobile HealthServ.net

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับ องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายประกาศกระทรวงสาธารณสุข“สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565” อย่างจริงจัง หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา ใช้ช่อดอกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ส่งเสริมให้ใช้ในเชิงสันทนาการ เน้นย้ำ “กัญชา” ถือเป็นสมุนไพรไทย เพื่อเน้นคุณค่าการใช้ในการแพทย์ การศึกษา วิจัย เศรษฐกิจ และ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมุนไพรกัญชา อย่างยั่งยืน

 
7 ธันวาคม 2565 ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมดูแล สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กรมวิชาการเกษตร กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

               อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ภายหลังมีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ฉบับล่าสุด ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เพราะเห็นว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 โดยกำหนดให้เฉพาะช่อดอกกัญชา เป็นลักษณะส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชสมุนไพร โดยที่ผ่านมามีการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ อนุกรรมการพัฒนากฎหมายภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง และโดยคำแนะนำเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศดังกล่าว พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการอนุญาต เงื่อนไข และ แบบรายงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไปนำกัญชาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย
 
               นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าว ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือ แปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ซึ่งตามคำนิยามในมาตรา 3 ให้นิยามความหมายกรณี “จำหน่าย” หมายความว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่มีการขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นกฎหมายใหม่ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ในส่วนที่เป็นข้อห้ามของประกาศที่มีความชัดเจน คือ
  • ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือ สตรีให้นมบุตร
  • ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา
  • ห้ามให้บริการสูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป
  • ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  • ห้ามโฆษณากัญชาในทุกช่องทางเพื่อการค้า และ
  • ห้ามจำหน่ายในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก เป็นต้น 

 
               ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ประโยชน์ และข้อควรระวังจากการใช้กัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาแก่ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างถูกต้อง พร้อมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จาก สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับล่าสุด แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร และ ซอยทองหล่อ เขตวัฒนา พบว่า สถานประกอบการบางแห่งอาจเข้าข่ายผิดและขัดต่อกฎหมายตามประกาศดังกล่าว คือ

               ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยบุคคลดังต่อไปนี้ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งใช้ในการรักษาสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว  สามารถใช้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งแต่ละสภาวิชาชีพก็มีการควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่แล้ว และหากจะใช้ช่อดอกมาปรุงหรือใช้เป็นยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก็ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้องเช่นกัน

               จากการลงพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการป้องปรามและตักเตือนผู้ประกอบการและประชาชนที่กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อเน้นย้ำไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก  
 

มาตรการบังคับ


               สำหรับมาตรการที่บังคับใช้ตามกฎหมาย กรณีผู้ที่ไม่ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว คือ

               1.กรณีผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 46 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 จะลงไปดำเนินการตรวจสอบผู้ที่ศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายและแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าโดยยังไม่ได้รับอนุญาตทุกราย

               2.กรณีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศฉบับใหม่ จะพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี และหากผู้ที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตยังดำเนินการศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรเพื่อการค้าอยู่ จะถือว่าดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 


               นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ประกาศฉบับนี้เป็นการปิดช่องสุญญากาศ ระยะหนึ่ง ก่อนมี (ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา  กัญชง พ.ศ.... มีผลบังคับใช้ พร้อมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลอดภัยให้กับสังคม “กัญชา” ถือเป็นสมุนไพรไทย เพื่อเน้นคุณค่า การใช้ในการแพทย์ การศึกษา วิจัย เศรษฐกิจ และ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมุนไพรกัญชา อย่างยั่งยืน


               ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่จะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาในเชิงพาณิชย์และทำการค้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ต้องขออนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องยื่นขออนุญาต ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย หากอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ต้องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่

               หากมีข้อสงสัยหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5607-8 หรือ 0 2591 7007 ต่อ 3708, 3713 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด