ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เตือนดังๆ ขายหมูแช่ฟอร์มาลิน โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

เตือนดังๆ ขายหมูแช่ฟอร์มาลิน โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ HealthServ.net
เตือนดังๆ ขายหมูแช่ฟอร์มาลิน โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ThumbMobile HealthServ.net

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ผู้ประกอบการนำหมูแช่ฟอร์มาลินมาจำหน่าย อาจมีโทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร ถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าว จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ที่จังหวัดชลบุรี พบว่ามีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินส่งขายร้านหมูกะทะ และร้านอาหารนั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงขอเตือนผู้ประกอบการระมัดระวังการนำวัตถุดิบดังกล่าวมาจำหน่าย เนื่องจากสารฟอร์มาลินถูกนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามนำมาใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหารซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้น เกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ หากตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
           นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit)และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี สุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกะทะ จำนวน 9 ร้าน แบ่งเป็นโซนบางแสน 3 ร้าน ตัวเมืองชลบุรี 3 ร้าน และนิคมอมตะนคร 3 ร้าน จำนวน 45 ตัวอย่าง พบมีผลบวกจำนวน 10 ตัวอย่าง  โดยพบในปลาหมึกกรอบ และสไบนาง ซึ่งต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ชลบุรีเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมู นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรียังได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ เก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสจะใส่สารฟอร์มาลีนอำเภอละ 10 ตัวอย่าง เพื่อส่งต่อให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 ชลบุรี ตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
 
           “ทั้งนี้ หากประชาชนกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล หากได้รับในรูปของไอระเหยหรือสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต หากสัมผัสสารนี้โดยตรงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษจนถึงผิวหนังไหม้หรือหากสัมผัสที่ดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะ พ่อค้า แม่ค้า ที่จำหน่ายอาหารแช่สารฟอร์มาลินมีโอกาสสูดดมไอระเหยของสารฟอร์มาลินที่ออกจากน้ำแช่ได้ตลอดเวลา จึงขอแนะนำประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว 

ฟอร์มาลีน สารตัวร้าย ใช้ผิดชีวิตเสี่ยงมะเร็ง

 
“ฟอร์มาลีน” (Formalin) หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ สารเคมีที่นำมาใช้ในงานต่างๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ เคมี และการเกษตร หากนำไปใช้อย่างถูกวิธีจะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ก็จะเกิดโทษภัยร้ายแรงตามมา ดังเช่นกรณีข่าวการตรวจพบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค
 
 
 
            นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การกรณีการเผยแพร่ข่าวการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลถึงการบริโภคหมูกะทะที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเมนูยอดฮิตที่นิยมทั้งแบบนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อแบบชั่งกิโลตามตลาดสดนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารฟอร์มาลิน ดังนี้
 
ฟอร์มาลีน เป็นสารพิษชนิดหนึ่งประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้น 37% โดยน้ำหนัก และมักผสมเมทานอลประมาณ 10-15% สารฟอร์มาลีนมีสถานะเป็นสารละลาย ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง คุณสมบัติแตกต่างกันตามความเข้มข้นฟอร์มาลดีไฮด์ในน้ำและอัตราส่วนผสมของเมทานอล มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาด ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตสี นอกจากนี้ในทางการแพทย์มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้สำหรับรักษาสภาพร่างกายของศพไม่ให้เน่าเปื่อย อย่างไรก็ตามไม่อนุญาตให้นำฟอร์มาลีนมาใช้ในการถนอมอาหาร
 
 
 

ฟอร์มาลีนเป็นวัตถุอันตรายและสารก่อมะเร็ง


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากผลิต นำเข้า หรือมีไว้ครอบครองต้องขึ้นทะเบียน และเป็นสารห้ามใช้ในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีการเฝ้าระวัง ตรวจติดตามการปนเปื้อนของฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหารอย่างต่อเนื่อง จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) จัดให้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนเป็นสารก่อมะเร็ง Group 1 ซึ่งหมายถึงมีข้อมูลยืนยันแน่ชัดแล้วว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์


โดยข้อมูลงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ที่สัมผัสสารนี้ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องยาวนาน เช่น คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าสารนี้เป็นสาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว (myeloid leukemia) และมะเร็งโพรงจมูก เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารฟอร์มาลดีไฮด์/ฟอร์มาลีนนั้นเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งจากการรับประทาน การหายใจ และทางผิวหนัง รวมถึงระยะเวลาที่สัมผัส สำหรับอาการเฉียบพลันจากการสัมผัสสารในความเข้มข้นระดับต่ำอาจทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น การระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาการแสบจมูก ปวดศรีษะ ระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ เกิดผื่นคัน ผิวหนังคล้ำดำ มีอาการแสบคันตามผิวหนัง เป็นต้น
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด