ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition)

หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition) HealthServ.net
หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition) ThumbMobile HealthServ.net

หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition) พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2564 เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition) HealthServ
หนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2564 (National Thai Traditional Medicine Formulary 2021 Edition)
 
พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2564
 
เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย
กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
 
สนับสนุนการพิมพ์โดย
กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
 
**ห้ามจำหน่าย**


+++++

 สาร
 
กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทในการฟื้นฟูและส่งเสริมให้การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรกลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของคนไทยในระบบสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ ที่ส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรประมาณ ๖๐ ชนิด ในสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาและบรรจุยาจากสมุนไพรเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มียาแผนไทยและยาพัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวมทั้งสิ้น ๗๔ รายการ ความก้าวหน้าที่สำคัญคือการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ (service plan) ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยและยาจากสมุนไพรได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น มีผลให้ผู้ป่วยนอกที่ได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานมีจำนวนสูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ ๒๐ ของจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมดเป็นครั้งแรกในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑
 
นอกจากส่งเสริมการให้บริการการแพทย์แผนไทยในระบบบริการสุขภาพแล้ว กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยังมีบทบาทภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการคุ้มครองตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทยที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขให้เป็น “ตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ” ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ประกาศกำหนดตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จำนวน 31 ฉบับ คุ้มครองตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ จำนวน 514 รายการ ศิลาจารึก จำนวน 536 แผ่น และตำรับยาแผนไทยของชาติในตำราและศิลาจารึกดังกล่าว จำนวน 40,541 ตำรับ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเหล่านี้ในการดูแลสุขภาพของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงคัดเลือกตำรับยาที่ดี มีประสิทธิผล และความปลอดภัยจากตำรับยาแผนไทยของชาติเหล่านี้ ให้เป็น “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” ดำเนินการโดยแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรองและคัดเลือกตำรับยาที่เหมาะสม จากนั้นจึงนำตำรับยาที่คัดเลือกเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ มีประโยชน์ในการเรียนการสอนวิชาชีพแพทย์แผนไทย การส่งเสริมการผลิตยาโดยภาคอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลของรัฐและการคัดเลือกเข้าสู่รายการยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไปในอนาคต กระบวนการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติดังกล่าว จึงถือได้ว่ารายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติฉบับนี้ผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นและได้รับการยอมรับโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” ฉบับนี้เป็นผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖0-2563 ของ “โครงการจัดทำรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” และเป็นผลงานทางวิชาการสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข นำสู่การต่อยอดในระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม
 
 
ท้ายที่สุดนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย คณะอนุกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ คณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติทั้ง ๓ ชุด และคณะทำงานอื่น ๆ รวมทั้งกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำผลงานครั้งนี้
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
 
 
 
คำนำ
 
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขับเคลื่อนภารกิจด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้แบ่งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 3 ประเภท ได้แก่ ตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ตำรับยาแผนไทยทั่วไปหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป และตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคลหรือตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศคุ้มครองรายการตำรับยาแผนไทยในตำราการแพทย์แผนไทย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การประกาศกำหนดตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ จำนวน 31 ฉบับ ตำราการแพทย์แผนไทย 514 รายการ ตำรับยาแผนไทย 40,541 ตำรับ และศิลาจารึก 536 แผ่น ในจำนวนดังกล่าวเป็นตำราและแผ่นศิลาจารึกจาก “ศิลาจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)” โดยประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติฉบับแรก และยังเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
 
นอกจากนี้ “ศิลาจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” ยังมีความสำคัญเนื่องจากเป็นตำราการแพทย์แผนไทย ๑ ใน ๔ รายการ ของต้นสาแหรกตำราการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม อีกทั้งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นแม่ทัพคุมทหารไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพออกจากกรุงเทพมหานคร เส้นทางยาตราทัพได้ผ่านคลองบางกอกใหญ่เข้าคลองด่าน เมื่อเสด็จถึงวัดจอมทอง หรือวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อันเป็นวัดโบราณ ก็เสด็จหยุดประทับแรมที่หน้าวัดและได้ทรงกระทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม ณ วัดนี้ ในพิธีดังกล่าวนี้ได้ทรงอธิษฐานขอให้เสด็จไปราชการทัพคราวนี้หากประสบความสำเร็จและเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพจะสร้างวัดถวายให้ใหม่ ครั้นเสด็จกลับถึงพระนครแล้วก็ทรงเริ่มปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งหมด ได้เสด็จมาประทับคุมงานและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เองแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย พระองค์ได้ให้เหล่านักปราชญ์รวบรวมและคัดเลือกสรรพความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยส่วนหนึ่ง มาจารึกประดับเป็นแผ่นหินอ่อนสีเทารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาว ด้านละ ๓๓ เซนติเมตร ติดประดับอยู่ที่ผนังด้านนอกของระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์และผนัง ศาลารายหน้าพระอุโบสถวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ พร้อมทั้งขยายอาณาเขตพระอารามใช้เวลานานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ในการนี้โปรดให้เหล่านักปราชญ์ ราชบัณฑิตในวิชาการสาขาต่าง ๆ ค้นคว้า รวบรวม ตรวจสอบและคัดสรรตำราวิชาการต่าง ๆ ให้ถูกต้อง จารึกประดับไว้ในอาคารเขตพุทธาวาส เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร (วัดโพธิ์) จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของปวงชนที่ใฝ่หาความรู้เปรียบเสมือนเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย” ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทย ได้เรียนรู้ และเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่คู่ประเทศไทย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ”
 
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาและกำหนดให้มีรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการกลั่นกรอง วิเคราะห์ และคัดเลือกตำรับยาแผนไทยจากแหล่งสำคัญ ได้แก่ ตำรับยาจากตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ตำรับยาเกร็ด ตำรับยาจากบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติและประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตำรับยาจากแหล่งทั้งหลายเหล่านี้ ได้ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกบนพื้นฐานองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย โดยอาศัยกลไกคณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ๓ ชุด คณะอนุกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ คณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยประกาศเป็น “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ (National Thai Traditional Medicine Formulary)”
 
ทั้งนี้ ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติดังกล่าว เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการให้ใช้ในการประกอบวิชาชีพและการเรียนการสอนแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย เป็นรายการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และในการผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรมและสถานบริการสุขภาพ ด้วยเหตุผลและความสำคัญของหนังสือรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ เล่มนี้ ได้จัดพิมพ์จำนวน 324 ตำรับ เพื่อนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์และอ้างอิงทางวิชาการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำราเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์แผนไทย บุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยและสาธารณสุขต่อไป
 
(แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์)
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
 
 
+++++
 
 

คำแนะนำการใช้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
 

ข้อมูลที่ให้ในบท “คำแนะนำการใช้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายที่มาของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ รวมทั้งความหมายของเนื้อหาในแต่ละบท แต่ละหัวข้อ และภาคผนวกของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเล่มนี้
 
 
ตำราเล่มนี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ รวมทั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งหวังให้เป็น “รายการตำรับยาแห่งชาติ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “National Formulary” ของตำรับยาแผนไทย จึงมีชื่อเรียกว่า “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ (National Thai Traditional Medicine Formulary)” ซึ่งเป็นเอกสารทางการที่รวบรวมตำรับยาแผนไทยจากแหล่งสำคัญ ๔ แหล่งได้แก่ ตำรับยาจากตำรายาแผนไทยชาติ ตำรับยาเกร็ดที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยยังนิยมใช้ปรุงยาให้แก่ผู้ป่วย ตำรับยาจากบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตำรับยาจากแหล่งเหล่านี้ได้ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกบนพื้นฐานองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย โดย คณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ๓ ชุด และ คณะอนุกรรมการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ อันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย คณะกรรมการอำนวยการจัดทำตำรับ ยาแผนไทยแห่งชาติ และ คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ ได้ผ่านการ
ทำประชาพิจารณ์เพื่อให้รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ นำไปใช้เป็นรายการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศ การประกอบวิชาชีพและการเรียนการสอนด้านการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย รวมทั้งการผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรมและในสถานบริการสุขภาพ
 
รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ประกอบด้วยตำรับยา 324 ตำรับ สำหรับกลุ่มโรค/อาการ 15 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคเด็ก กลุ่มโรคสตรี กลุ่มโรคลม กลุ่มยาบำรุง อายุวัฒนะ กลุ่มโรคกระษัย กล่อน กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน กลุ่มโรคฝี กลุ่มโรคในปาก ในคอ กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง กลุ่มโรคริดสีดวง กลุ่มโรคหอบ ไอ หอบหืด กลุ่มโรคท้องมาน กลุ่มไข้ และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งตำรับยาที่กลั่นกรอง หรือคัดเลือกมานั้นยังไม่ใช่รายการยาทั้งหมดสำหรับแต่ละกลุ่มโรค/อาการเหล่านี้ คณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องยังจะต้องพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมรายการตำรับยาสำหรับกลุ่มโรค/อาการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
 
ข้อมูลตำรับยาแผนไทยในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติเล่มนี้ ได้นำมาเรียบเรียงไว้ในรูปแบบที่เรียกว่า “มอโนกราฟ” (monograph) โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่แพทย์แผนไทยและนักศึกษาแพทย์ 
 
แผนไทยที่สนใจเกี่ยวกับที่มาของตำรับยา สูตรตำรับ การปรุงยา สรรพคุณ ขนาดและวิธีการใช้ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ปรุงยา สั่งยา หรือจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิผล มิใช่รายละเอียดของยาที่ระบุวิธีการตรวจวิเคราะห์หรือการควบคุมคุณภาพของตำรับยาในลักษณะของตำรามาตรฐานยาแผนไทย (Thai Traditional Preparation Pharmacopoeia)
 
คำอธิบายความหมายของมอโนกราฟของตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
โครงสร้างของมอโนกราฟของตำรับยาแผนไทยแต่ละตำรับประกอบด้วย ชื่อตำรับยา ชื่ออื่น (ถ้ามี)
ที่มาของตำรับยา สูตรตำรับยา สรรพคุณ รูปแบบยา วิธีปรุงยา (ถ้ามี) ขนาดและวิธีการใช้ รวมทั้ง คำเตือน ข้อห้ามใช้
ข้อควรระวัง ข้อมูลเพิ่มเติม (ถ้ามี) และเอกสารอ้างอิง แต่ละหัวข้อมีรายละเอียดและความหมาย ดังนี้
 
ชื่อตำรับยา (Name of medicinal preparation)
เป็นชื่อภาษาไทยของตำรับยาที่ระบุไว้ใน “ตำรายาแผนไทยแห่งชาติ” “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ” หรือ “ประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ” กรณีมีการสะกดชื่อยาหลายแบบหรือมีชื่อยาหลายชื่อ จะเลือกชื่อที่นิยมใช้มากที่สุด หรือใช้คำที่นิยมเขียนหรือสะกดกันในปัจจุบันเป็นชื่อตำรับยา เช่น ยามหาสดมภ์ ส่วนชื่อที่สะกดแบบอื่นจะเก็บไว้ในหัวข้อ “ชื่ออื่น” ในกรณีที่ในคัมภีร์ไม่ระบุชื่อตำรับยา ได้ใช้วิธีนำชื่อโรคหรืออาการที่ตำรับยานั้นใช้แก้มาตั้งเป็นชื่อตำรับยา เช่น ยาแก้ตานซางและตานขโมย ยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้อาเจียน แก้สะอึก
 
ชื่ออื่น (Other name)
ยาบางตำรับ นอกเหนือจากชื่อที่ใช้เป็นชื่อตำรับยาแล้ว ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกหลายชื่อ หรือมีวิธีการสะกดชื่อยาหลายแบบ ชื่อเหล่านั้น จะระบุไว้ในชื่ออื่น
 
ที่มาของตำรับยา (Source of origin)
เป็นชื่อคัมภีร์หรือตำราดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มาของตำรับยานั้น พร้อมทั้งเลขหน้าหรือเลขที่แผ่นศิลาจารึกเพื่อการอ้างอิง และระบุข้อความเดิมเกี่ยวกับสูตรตำรับยานั้นไว้ด้วยอักษรตัวเอนในเครื่องหมายอัญประกาศ ในบางกรณียาตำรับหนึ่งอาจมีการระบุไว้ในตำรายามากกว่า ๑ เล่ม เช่น ยาแก้ตานทราง ที่อยู่ในเวชศาสตร์ ฉบับหลวงรัชกาลที่ ๕ กับยาแก้ทรางฝ้าย ที่อยู่ในแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑ พระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ. ๑๒๘ เป็นยาที่มีสูตรตำรับเหมือนกัน จึงระบุที่มาจากทั้ง ๒ แหล่ง
 
สำหรับตำรับยาที่มาจาก “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ” เนื่องจากบางตำรับได้มีการใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณมาก่อนเป็นเวลานานหลายสิบปีและปรับปรุงสูตรตำรับไปบ้าง ดังนั้น สูตรตำรับ จึงอาจไม่ตรงกับตำรับยาในคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิม เช่น น้ำหนักของตัวยาบางตัวอาจต่างไป ตัวยาบางตัวอาจหายไป หรือมีการเพิ่มตัวยาบางตัวขึ้นมา แต่ยังคงมีเค้าโครงของตำรับยาที่ใกล้เคียงกับตำรับยาที่อยู่ในคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิม ในกรณีเช่นนี้ ได้นำตำรับยาจากคัมภีร์หรือตำรายาดั้งเดิมที่ใกล้เคียงกันนั้นมาอ้างอิงไว้ในหัวข้อ “ที่มา” เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ สำหรับข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประวัติการคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณและบัญชียาหลักแห่งชาติได้นำไปกล่าวไว้ในหัวข้อ “ข้อมูลเพิ่มเติม”
 
ส่วนตำรับยาที่มาจากเภสัชตำรับโรงพยาบาลที่อยู่ในบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติได้พยายามสืบค้นถึงที่มาให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ว่าโรงพยาบาลใดพัฒนายาตำรับนี้เป็นแห่งแรกสำหรับใช้เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาลจากสมุนไพร หรือผู้ใดเป็นผู้พัฒนาตำรับยานั้น ตำรับยาบางตำรับหมอพื้นบ้านเป็นผู้พัฒนาสูตรตำรับขึ้นใช้รักษาผู้ป่วยในชุมชนอย่างได้ผลดีมาก่อน หากผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียงยอมรับในประสิทธิผลและความปลอดภัย และหมอพื้นบ้านเจ้าของตำรับยาอนุญาต โรงพยาบาลก็สามารถนำตำรับยานั้นมาเป็นรายการยาในเภสัชตำรับโรงพยาบาล เพื่อผลิตและใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป คณะทำงานกลั่นกรองตำรับยาแผนไทยแห่งชาติจึงได้เสนอตำรับยาเหล่านี้ให้คณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาคัดเลือกเข้าในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
 
สูตรตำรับยา (Medicinal preparation formula)
เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรและส่วนประกอบของตำรับยานั้น โดยระบุว่ามีตัวยา (ไม่ว่าจะเป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือธาตุวัตถุ) รวมทั้งหมดกี่ชนิด ปริมาณรวมของตัวยาทั้งหมดกี่กรัม หรือทั้งหมดกี่ส่วนในกรณีที่สูตรตำรับระบุตัวยาเป็นส่วน จากนั้นจึงระบุรายละเอียดของตัวยาแต่ละชนิดและน้ำหนักยา โดย
 
- ตัวยา (Medicinal material, materia medica) คือ ชื่อเครื่องยาที่นำมาใช้ปรุงยาไม่ใช่ชื่อพืชสมุนไพรซึ่งเป็นที่มาของเครื่องยา สำหรับข้อมูลตัวยาหรือเครื่องยาแต่ละชนิดว่ามีที่มาจากพืชสมุนไพรหรือสัตว์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างไร หรือมีชื่อเครื่องยาเป็นภาษาละตินซึ่งเป็นชื่อสากลอย่างไร รวมทั้งส่วนที่ใช้ของพืชและสัตว์แต่ละชนิด ได้รวบรวมไว้ใน “ภาคผนวก ๑ เภสัชวัตถุ” หากมีการวงเล็บส่วนที่ใช้กำกับไว้ท้ายตัวยา หมายถึง เป็นส่วนที่ใช้อื่นที่แตกต่างจากตัวยาที่แพทย์แผนไทยนิยมใช้กันโดยทั่วไป
 
- ปริมาณ (Amount) ส่วนมากแสดงน้ำหนักเป็นกรัมหรือเป็นส่วน มีบ้างที่กำหนดน้ำหนักหรือปริมาณเป็นหน่วยวัดอื่น เช่น กลีบ กำมือ ดอก ผล แว่น หัว องคุลี หรือแสดงปริมาณตัวยาเป็นหน่วยน้ำหนักแบบไทย (ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ) ซึ่งได้แปลงหน่วยน้ำหนักแบบไทยในตำรายาให้เป็นกรัม โดยเทียบน้ำหนัก
 
 
สรรพคุณ (Therapeutic use)
คุณสมบัติในการแก้หรือบำบัดรักษาโรคหรืออาการของตำรับยานั้นตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยหรือจากรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่สนับสนุนข้อบ่งใช้ เช่น สรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของยาประสะไพล หรือสรรพคุณขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อของยาธาตุอบเชย สำหรับความหมายของสรรพคุณที่เป็นศัพท์การแพทย์แผนไทยนั้น ได้ให้คำอธิบายศัพท์ไว้ใน “ภาคผนวก ๔ อภิธานศัพท์” 
 
 
รูปแบบยา (Dosage form)
ลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ยาตำรับนั้น ๆ เช่น เป็นยาต้ม ยาผง ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ ยาแคปซูล ยาน้ำมัน ยาประคบ บางตำรับยามีรูปแบบยาได้มากกว่า ๑ รูปแบบ เช่น ยาผง ยาเม็ด ยาแคปซูลสำหรับยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ หรือยาลูกกลอน บางตำรับจะระบุขนาดน้ำหนักต่อเม็ดไว้ด้วย
 
วิธีปรุงยา (Compounding method)
ในมอโนกราฟของยาบางตำรับอาจมีวิธีการเตรียมเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากที่ระบุไว้ในภาคผนวก 3 ก็จะอธิบายวิธีเตรียมไว้ในหัวข้อนี้
 
ขนาดและวิธีใช้ (Dosage and administration)
ตำรับยาที่คัดเลือกจาก “บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักชาติ” หรือจาก “ประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ” ได้ระบุขนาดและวิธีใช้ไว้แล้วโดยละเอียดทุกตำรับ โดยระบุขนาดใช้ของยาเป็นระบบเมตริก คือ เป็นกรัม หรือมิลลิกรัม และยาน้ำกำหนดปริมาตรเป็นมิลลิลิตร
 
ส่วนตำรับยาแผนไทยที่มาจากคัมภีร์และตำรายาแผนไทยของชาติต่าง ๆ มักไม่ได้ระบุขนาดและวิธีใช้ไว้ การกำหนดขนาดและวิธีใช้ของตำรับยากลุ่มนี้เป็นเนื้อหาส่วนที่ยากที่สุดในการจัดทำรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ จึงต้องอาศัยประสบการณ์การเตรียมยาและการสั่งใช้ยาของคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญ ในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดขนาดและวิธีใช้ที่เหมาะสม โดยใช้วิธีระบุขนาดของยาเม็ด ยาเม็ดพิมพ์ หรือยาลูกกลอนเป็นมิลลิกรัมต่อเม็ด แล้วระบุขนาดใช้เป็นจำนวนเม็ดสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก โดยขนาดยาของเด็กจะลดลงเป็นสัดส่วนกับอายุของเด็ก ถ้าเป็นยาน้ำจะระบุเป็นจำนวนช้อนชาหรือจำนวนช้อนโต๊ะ โดยวงเล็บปริมาตรเป็นซีซีหรือมิลลิลิตรไว้ให้ด้วยเพื่อความสะดวกหากใช้ถ้วยตวงยา โดยคิดคำนวณว่า ๑ ช้อนชา เท่ากับ ๕ ซีซี (มิลลิลิตร) และ ๑ ช้อนโต๊ะ เท่ากับ ๑๕ ซีซี
 
ข้อห้ามใช้ (Contraindication)
ข้อมูลที่อธิบายว่าตำรับยานี้ห้ามใช้ในคนกลุ่มใด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น ยาประสะไพล ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
 
คำเตือน (Warning)
ข้อความที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยควรทราบก่อนการใช้หรือการสั่งใช้ยา
ตำรับนั้น หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยกลุ่มใด เช่น ยาเขียวหอม ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็น
ไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังอธิบายเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ (adverse
drug reaction) ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ตำรับยานั้น (ถ้ามี) รวมทั้งผลเสียต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์
ระหว่างตำรับยานั้นกับยาแผนปัจจุบันบางชนิดหากมีการใช้ร่วมกัน (herb-drug interaction) เช่น ยาบางตำรับ
ควรระวังการกินร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
(antiplatelet) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก (bleeding)
 
ข้อควรระวัง (Precaution)
ข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้ยาตำรับ ที่ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยควรทราบ เช่น ตำรับยาที่มีการบูรเป็นส่วนประกอบ จะมีข้อควรระวังว่า “ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้”
 
ข้อมูลเพิ่มเติม (Additional information)
ข้อมูลเกี่ยวกับตำรับยาที่ควรทราบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของตำรับยา หรือการตัดตัวยาบางตัวออกจากสูตรตำรับดั้งเดิมพร้อมทั้งเหตุผล หรือเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหรืออาการที่ใช้ตำรับยานั้นในการบำบัดรักษาคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมยา การใช้ยา กระสายยา ข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้อาการเลวลง เช่น งดของแสลง ของเย็น ของเผ็ดร้อน ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณที่ทำให้เกิดพิษจากการกินการบูรหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมเอกสารอ้างอิง (Reference)
 
การเขียนเอกสารอ้างอิงทั้งภาษาไทยและอังกฤษใช้หลักของแวนคูเวอร์ (Vancouver style) แต่การใช้เครื่องหมายวรรคตอนของเอกสารอ้างอิงภาษาไทยใช้ตาม “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๗ (แก้ไขเพิ่มเติม)” อย่างไรก็ตาม ตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้ที่ระบุในแต่ละตำรับยานั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้ที่ยอมรับในการขึ้นทะเบียนตำรับ แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งการอ้างอิงตัวยา สรรพคุณของตำรับยา ขนาดและวิธีใช้เพื่อการขอขึ้นทะเบียนตำรับ แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งนั้น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกฎกระทรวง และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
 
ภาคผนวกของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ
ตอนท้ายของรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีภาคผนวกอยู่ 4 ภาคผนวก เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับตัวยาต่าง ๆ ที่ใช้ในตำรับยาทั้ง 324 ตำรับ ได้แก่ เภสัชวัตถุ การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา วิธีการปรุงยา อภิธานศัพท์ด้านการแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวข้องกับโรคและอาการต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีรายละเอียดพอสังเขป ดังต่อไปนี้ 
 
 
ภาคผนวก ๑ เภสัชวัตถุ (Medicinal material, Materia Medica)
เป็นภาคผนวกที่รวมตัวยาหรือเภสัชวัตถุ ทั้งพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาทั้ง 324 ตำรับ ในรูปของตาราง โดยแต่ละช่องจะให้ข้อมูลดังนี้
 
● ชื่อตัวยา (Thai title) หมายถึง ชื่อตัวยาที่ระบุในสูตรตำรับยา โดยเป็นชื่อที่เรียกหรือรู้จักเป็นสากลในปัจจุบัน ซึ่งอาจแตกต่างจากชื่อที่ใช้เรียกหรือเขียนในเอกสารต้นฉบับเดิม โดยเรียงชื่อตัวยาตามลำดับอักษรภาษาไทย ก-ฮ ในแบบพจนานุกรม
 
ส่วนที่ใช้ (Part used) หมายถึง ส่วนของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นตัวยา เช่น เหง้า ราก ใบ ดอก เกสร ผล เมล็ด ฯลฯ ทั้งนี้ ส่วนที่ใช้จะยึดตามหลักทางพฤกษศาสตร์ ไม่ใช่ชื่อที่เรียกเครื่องยาตามตำรายาไทย เช่น ดีปลี ส่วนที่ใช้ คือ ช่อผล ไม่ใช่ดอก แม้ว่าในตำราการแพทย์แผนไทยมักเรียกช่อผลที่มีสีแดงว่า ดอกดีปลี
 
สำหรับตัวยาใดที่มีส่วนที่ใช้มากกว่า ๑ ส่วน และมีเครื่องหมายดอกจันทน์ “*” กำกับไว้ หมายความว่า เป็นส่วนที่ใช้ของตัวยาที่แพทย์แผนไทยนิยมใช้กันโดยทั่วไป
 
● ชื่อละติน (Latin title) เป็นชื่อตัวยาในภาษาละตินที่กำหนดให้มีไว้เพื่อความเป็นสากล เนื่องจากตำรายา (Pharmacopoeia) หรือรายการตำรับยาแห่งชาติ (National Formulary) ของหลายประเทศและขององค์การอนามัยโลกก็ใช้ชื่อละตินเป็นชื่อทางการของตัวยาต่าง ๆ ในที่นี้เพื่อความสะดวกในการสืบค้นชื่อ จึงได้นำส่วนที่ใช้เป็นยา เป็นคำลงท้ายชื่อ แทนที่จะใช้เป็นคำนำหน้า เช่นเดียวกับในตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศัพท์ภาษาละตินสำหรับส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพร ได้แก่ Bulbus (หัวอย่างหัวหอม), Caulis (เถา), Cormus (หัวอย่างหัวเผือก), Cortex (เปลือกต้น), Exocarpium (เปลือกผลชั้นนอกหรือ ผิวผล), Flos (ดอก), Folium (ใบ), Fructus (ผลหรือฝัก), Galla (ปุ่มหูด), Herba (ทั้งต้น),
Lignum (แก่น), Mesocarpium (ผนังผลชั้นกลาง), Pedunculatum (ก้านช่อผล), Pericarpium (เปลือกผล), Pulpa (เนื้อในผลหรือฝัก), Radix (ราก), Rhizoma (เหง้า), Semen (เมล็ด), Stamen (เกสรเพศผู้) และ Stigma (ยอดเกสรเพศเมีย)
 
ศัพท์ภาษาละตินสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสมุนไพร ได้แก่ Aetheroleum (น้ำมันระเหยง่าย), Extractum (สิ่งสกัดจากสมุนไพร), Latex (ยาง), Oleum (น้ำมัน) และ Resina (ชัน) ทั้งนี้ ชื่อละติน จะใช้ตามชื่อที่ปรากฏในตำรายาของต่างประเทศหากเป็นตัวยาสมุนไพรเดียวกัน หรือใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรที่เป็นต้นกำเนิดของตัวยามาแปลงเป็นภาษาละติน ในกรณีที่ตัวยามาจากสมุนไพรได้หลายชนิด จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรหลักที่นิยมใช้มาแปลงเป็นชื่อละตินเพียง ๑ ชื่อเท่านั้น
 
 
● ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรที่เป็นต้นกำเนิดของตัวยาประกอบด้วย ชื่อสกุล (genus) เขียนด้วยตัวเอน ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ ตามด้วยชื่อระบุชนิด (specific epithet) ซึ่งเขียนด้วยตัวเอนเช่นกัน ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็ก และชื่อผู้ตั้งชื่อ (author’s name) ที่เขียนด้วยตัวอักษรปรกติ ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ ทั้งนี้อาจใช้ชื่อย่อตามที่กำหนดในหนังสือ Authors of Plant Names* ฐานข้อมูล The Plantlist** และฐานข้อมูล Plants of the World Online*** หากพืชสมุนไพรชนิดใดสามารถระบุพันธุ์ (variety) หรือพันธุ์ปลูก (cultivar) ได้ ก็จะระบุไว้หลังชื่อ โดยใช้ตัวย่อ var. หรือ cv. ตามลำดับ แล้วตามด้วยชื่อพันธุ์หรือชื่อพันธุ์ปลูก
 
ภาคผนวก ๒ การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา (Prepreparation of crude drug)
เนื่องจากตัวยาบางชนิดมีฤทธิ์แรงเกินไปหรือมีพิษมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หรือตัวยาบางชนิด
อาจไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือมีความชื้นมากเกินไป ตัวยาเหล่านี้จึงต้องผ่านกระบวนการประสะ สะตุ หรือ ฆ่าฤทธิ์ ก่อนนำมาใช้ปรุงยา เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ภาคผนวกนี้จึงนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประสะ สะตุหรือฆ่าฤทธิ์ของตัวยาบางชนิดก่อนนำไปใช้
 
ภาคผนวก ๓ วิธีการปรุงยา (Compounding of traditional medicinal preparation) รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ มีรูปแบบของยาเตรียมที่สำคัญ 14 วิธี ได้แก่ ยาต้ม ยาน้ำมัน ยาดอง ยาฝน ยาทา ยาผง ยาแคปซูล ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาพอก ยาประคบ ยาชง ยาสด และยาขี้ผึ้ง ซึ่งภาคผนวกนี้ได้อธิบายกระบวนการผลิตยาแต่ละรูปแบบโดยละเอียด รวมทั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการผลิตยา ขั้นตอนการผลิต รวมทั้งการควบคุมคุณภาพระหว่างการผลิต
 
ภาคผนวก ๔ อภิธานศัพท์ (Glossary)
 
ภาคผนวกนี้เป็นบัญชีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย โรคหรืออาการทางการแพทย์แผนไทย รวมทั้งศัพท์ทางเภสัชกรรมไทยที่กล่าวถึงในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาตินี้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติม และทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เป็นภาษาไทยดั้งเดิมที่ใช้ในคัมภีร์หรือตำราแพทย์แผนไทยของชาติด้วยการให้ความหมายเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ความหมายของคำศัพท์เหล่านี้ ส่วนใหญ่นำมาจาก “พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่วนคำศัพท์ที่ยังไม่มีในพจนานุกรมดังกล่าว คณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการฯ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ เพื่อจัดทำความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นขึ้น
 
 
+++++
 
 

สารบัญ


 
รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติมีดังนี้
 
ยากษัยเส้น 1
ยากำลังราชสีห์ สูตร 1 2
ยากำลังราชสีห์ สูตร 2 4
ยาแก้กล่อน 6
ยาแก้กล่อนในเด็ก 8
ยาแก้กล่อนลม 9
ยาแก้กล่อนลมกล่อนแห้ง 10
ยาแก้กล่อนลมอัมพาต 11
ยาแก้กล่อนลมอุทธังคมาวาต 12
ยาแก้กล่อน 5 จำพวก 13
ยาแก้กล่อนแห้ง 14
ยาแก้กลากพรรนัย 15
ยาแก้กลากเหล็ก 16
ยาแก้กษัยกล่อน สูตร 1 17
ยาแก้กษัยกล่อน สูตร 2 19
ยาแก้กษัยกล่อน สูตร 3 20
ยาแก้กษัยดาน 21
ยาแก้กษัยเพื่อเตโชธาตุ 22
ยาแก้กษัยเลือดลม 23
ยาแก้กำเดา 24
ยาแก้กุฏฐัง 25
ยาแก้โกฏฐาสยาวาตอติสาร 26
ยาแก้ขี้เรื้อน 27
ยาแก้ไข้ สูตร 1 28
ยาแก้ไข้ สูตร 2 29
ยาแก้ไข้ตัวร้อน 30
ยาแก้ไข้ทับระดูหรือระดูทับไข้ สูตร 1 31
ยาแก้ไข้ทับระดูหรือระดูทับไข้ สูตร 2 32
ยาแก้ไข้ทับระดูหรือระดูทับไข้ สูตร 3 34
ยาแก้ไข้เพื่อเสมหะ สูตร 1 35
ยาแก้ไข้เพื่อเสมหะ สูตร 2 36
ยาแก้ไข้สันนิบาต 37
ยาแก้คอแห้ง กระหายน้ำ 39
ยาแก้คอแหบ 40
ยาแก้คุดทะราด 41
ยาแก้งูสวัด สูตร 1 42
ยาแก้งูสวัด สูตร 2 43
ยาแก้ช้ำรั่ว สูตร 1 44
ยาแก้ช้ำรั่ว สูตร 2 45
ยาแก้ซางขุม 46
ยาแก้ซางเพลิง 47
ยาแก้ดากออกในเด็ก 49
ยาแก้ตับทรุด 50
ยาแก้ตาน 51
ยาแก้ตานขโมย 53
ยาแก้ตานซาง 54
ยาแก้เถาดาน 55
ยาแก้ท้องขึ้น 57
ยาแก้ท้องขึ้นในเด็ก 58
ยาแก้ท้องเสียในเด็กอ่อน 59
ยาแก้ทักขิณมาน 60
ยาแก้โทสันฑฆาต 63
ยาแก้ธาตุระส่ำระสาย 65
ยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไข้ผอมเหลือง 66
ยาแก้น้ำเหลืองเสีย 67
ยาแก้แน่นในยอดอก 69
ยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปรกติ 70
ยาแก้ประดง 71
ยาแก้ปวดท้องผสมคนทีสอ 72
ยาแก้ปวดหลัง 73
ยาแก้ปัตฆาต 74
ยาแก้แผลในปากและลิ้น 75
ยาแก้ฝี 76
ยาแก้ฝีในกระพุ้งแก้มและในปาก สูตร 1 77
ยาแก้ฝีในกระพุ้งแก้มและในปาก สูตร 2 78
ยาแก้ฝีในคอ 80
ยาแก้ฝีในหู 81
ยาแก้ฝีมานทรวง 82
ยาแก้ฝีหัวคว่ำ 83
ยาแก้ฝีเอ็น 84
ยาแก้พยาธิโรคเรื้อน 85
ยาแก้พิษฝี 86
ยาแก้ฟกบวมเมื่อยขบ 87
ยาแก้มะเร็งไร 88
ยาแก้มานลม 89
ยาแก้มานหิน สูตร 1 90
ยาแก้มานหิน สูตร 2 91
ยาแก้มุตฆาต สูตร 1 92
ยาแก้มุตฆาต สูตร 2 94
ยาแก้ระดูขัด 96
ยาแก้รำมะนาด 97
ยาแก้ริดสีดวงจมูก สูตร 1 98
ยาแก้ริดสีดวงจมูก สูตร 2 99
ยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก สูตร 1 100
ยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก สูตร 2 101
ยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก สูตร 3 102
ยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก สูตร 4 103
ยาแก้ริดสีดวงลำคอ สูตร 1 104
ยาแก้ริดสีดวงลำคอ สูตร 2 105
ยาแก้ริดสีดวงลำไส้ 106
ยาแก้เริมแลงูสวัด 107
ยาแก้เรื้อนกวาง 107
ยาแก้โรคจิต 108
ยาแก้ลม สูตร 1 110
ยาแก้ลม สูตร 2 111
ยาแก้ลมกล่อน สูตร 1 112
ยาแก้ลมกล่อน สูตร 2 113
ยาแก้ลมกล่อนให้จุก 114
ยาแก้ลมกษัย 115
ยาแก้ลมกษัยกล่อน 116
ยาแก้ลมกษัยลูกอัณฑะใหญ่ 117
ยาแก้ลมกุจฉิสวาตอติสาร 118
ยาแก้ลมต่าง ๆ 120
ยาแก้ลมทุนะยักษวาโย 121
ยาแก้ลมปะกัง 122
ยาแก้ลมปัตฆาต สูตร 1 123
ยาแก้ลมปัตฆาต สูตร 2 124
ยาแก้ลมพาหุรวาโย 126
ยาแก้ลมพุทยักษ์ 127
ยาแก้ลมมหาสดมภ์ 128
ยาแก้ลมมหาสดมภ์และลมอัมพาต 129
ยาแก้ลมวาระยักขะวาโย 130
ยาแก้ลมสรรพวาระจักรโมละ 132
ยาแก้ลมสันดาน สูตร 1 133
ยาแก้ลมสันดาน สูตร 2 134
ยาแก้ลมสุนทรวาต 135
ยาแก้ลมหทัยวาตะกำเริบ สูตร 1 137
ยาแก้ลมหทัยวาตะกำเริบ สูตร 2 138
ยาแก้ลมออกตามหูและตา 139
ยาแก้ลมอัควารันตวาโย 140
ยาแก้ลมอัมพฤกษ์ 142
ยาแก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต สูตร 1 143
ยาแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต สูตร 2 145
ยาแก้ลมอุทธังคมาวาตา 147
ยาแก้ละอองพระบาท 148
ยาแก้วาโยกำเริบ 149
ยาแก้สันทฆาต 151
ยาแก้สารพัดลม 152
ยาแก้เส้นปัตฆาต 153
ยาแก้เสียงแห้ง 154
ยาแก้หืด 155
ยาแก้อยู่ไฟไม่ได้ 156
ยาแก้อุทรวาตอติสาร 157
ยาแก้ไอ สูตร 1 158
ยาแก้ไอ สูตร 2 159
ยาแก้ไอ ขับเสมหะ สูตร 1 160
ยาแก้ไอ ขับเสมหะ สูตร 2 161
ยาแก้ไอคอแหบแห้ง 162
ยาแก้ไอผสมกานพลู 163
ยาแก้ไอผสมตรีผลา 164
ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม 165
ยาแก้ไอผสมมะนาวดอง 166
ยาแก้ไอพื้นบ้านอีสาน 167
ยาแก้ไอเพื่อลม 168
ยาขี้ผึ้งกัดแผล แลฝีมีปลวก 169
ยาขี้ผึ้งแก้โรคผิวหนัง 170
ยาขี้ผึ้งแดงใส่ฝี 171
ยาขี้ผึ้งใบมะระ 172
ยาเขียวน้อย 173
ยาเขียวเบญจขันธ์ 174
ยาเขียวพิกุลทอง 175
ยาเขียวหอม 176
ยาครรภ์รักษา 178
ยาคันธารส 179
ยาคุดทะราด 180
ยาฆ้องไชย 181
ยาจันทน์ลีลา 182
ยาจันทน์สามโลก 183
ยาจำเริญอายุ 184
ยาจิตรวาโย 186
ยาชักดากให้หดเข้า 187
ยาชำระโลหิตน้ำนม 188
ยาชิรนัคคีจร 189
ยาชุมนุมวาโย 190
ยาดาวดึงษา 193
ยาต้มแก้กษัยเส้น 195
ยาต้มแก้เหน็บ 196
ยาตรีผลา 197
ยาตรีผลาใหญ่ 199
ยาตรีหอม 200
ยาตัดกำลังไข้ 202
ยาถ่ายไข้พิษไข้กาฬ 203
ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง 204
ยาถ่ายพยาธิ 206
ยาถ่ายพยาธิพรหมกิจ 207
ยาถ่ายลมถ่ายเสมหะในโรคกษัย สูตร 1 208
ยาถ่ายลมถ่ายเสมหะในโรคกษัย สูตร 2 210
ยาถ่ายลมถ่ายเสมหะในโรคกษัย สูตร 3 211
ยาทวิวาตาธิคุณ 212
ยาทองเนื้องาม 214
ยาทองพันชั่ง 216
ยาทาแก้ฝี สูตร 1 217
ยาทาแก้ฝี สูตร 2 218
ยาทาแก้ฝี สูตร 3 219
ยาทาแก้ฝี สูตร 4 220
ยาทาแก้ฝี สูตร 5 221
ยาทาแก้เรื้อนกวาง 222
ยาทาแก้เรื้อนขี้นก 223
ยาทาแก้เรื้อนวิลา 224
ยาทาแก้โรคผิวหนัง 225
ยาทาท้อง สูตร 1 226
ยาทาท้อง สูตร 2 227
ยาทาท้อง สูตร 3 229
ยาทาท้อง สูตร 4 230
ยาทาพระเส้น 231
ยาทิพดารา 232
ยาทิภาวุธ 234
ยาธรณีสันฑะฆาต 235
ยาธาตุเด็ก 237
ยาธาตุบรรจบ 238
ยาธาตุอบเชย 240
ยานนทเสน 241
ยานาดธิจร 242
ยานารายณ์ประสิทธิ์ 244
ยานารายณ์พังค่าย 245
ยาน้ำมันแก้แผลเปื่อย 247
ยาน้ำมันชำระแผล 248
ยาน้ำมันประสาน 249
ยาน้ำมันมหาจักร 250
ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ 251
ยาน้ำมันสมานแผล สูตร 1 253
ยาน้ำมันสมานแผล สูตร 2 254
ยาน้ำมันสิทธิโยคี 255
ยาน้ำมันหยอดหู 257
ยาบรมไตร 258
ยาบำรุงธาตุเจริญอาหาร 259
ยาบำรุงธาตุหลังฟื้นไข้ 260
ยาบำรุงเลือด สูตร 1 261
ยาบำรุงเลือด สูตร 2 262
ยาบำรุงเลือด สูตร 3 263
ยาบำรุงสตรี 265
ยาบำรุงสำหรับบุรุษ สูตร 1 266
ยาบำรุงสำหรับบุรุษ สูตร 2 267
ยาบุพประสิทธิ 268
ยาเบญจกูล 269
ยาเบญจขันธ์ 270
ยาเบญจธาตุ 272
ยาเบญจอำมฤต 273
ยาประคบ 274
ยาประคบคลายเส้น 275
ยาประสะกะเพรา 276
ยาประสะกะเพราน้อย 278
ยาประสะกานพลู 280
ยาประสะจันทน์แดง 282
ยาประสะเจตพังคี 283
ยาประสะน้ำนม 285
ยาประสะน้ำมะนาว 286
ยาประสะเปราะใหญ่ 287
ยาประสะผลสมอไทย 289
ยาประสะผิวมะกรูด 290
ยาประสะพริกไทย 291
ยาประสะไพล 292
ยาประสะมะแว้ง 294
ยาประสะลม 296
ยาประสะว่านนางคำ 297
ยาประสะสมอ 298
ยาปราบชมพูทวีป 299
ยาปลูกไฟธาตุ 301
ยาปะโตลาธิคุณ 30๒
ยาปัตฆาตใหญ่ 303
ยาแปรไข้ 305
ยาผสมโคคลาน 306
ยาผสมเถาวัลย์เปรียง 307
ยาผสมเพชรสังฆาต 308
ยาผายโลหิต 309
ยาแผ้วฟ้า 310
ยาฝนแสนห่าสิงคาทิจร 311
ยาพรหมพักตร์ 312
ยาพระเป็นเจ้ามงกฎลม 313
ยาพระวิลาศ 314
ยาพระแสงจักร 315
ยาพอกแผลพอกฝี 317
ยาพอกฝี สูตร 1 318
ยาพอกฝี สูตร 2 319
ยาพอกฝี สูตร 3 320
ยาพัดในลำไส้ 321
ยาไพสาลี 322
ยาไฟประลัยกัลป์ 324
ยาไฟห้ากอง 325
ยามหากะเพรา 326
ยามหากำลัง 328
ยามหาจักรใหญ่ 329
ยามหาไชยวาตะ 331
ยามหานิลแท่งทอง 333
ยามหาวาตาธิคุณ 335
ยามหาวาโย 337
ยามหาสดมภ์ 338
ยามหาอำมฤต 340
ยามันทธาตุ 342
ยาริดสีดวงทางเดินปัสสาวะ 344
ยาริดสีดวงมหากาฬ 345
ยาลุลม 347
ยาเลือดงาม 348
ยาวาตาธิจร 349
ยาวาตาประสิทธิ 350
ยาวาโยสมุฏฐาน 352
ยาวิรุณนาภี 353
ยาวิสัมพยาใหญ่ 355
ยาศุขไสยาศน์ 357
ยาศุภมิตร 358
ยาสตรีหลังคลอด สูตร 1 359
ยาสตรีหลังคลอด สูตร 2 360
ยาสมมิทกุมารน้อย 361
ยาสหัศธารา 364
ยาสำหรับเด็ก 366
ยาสิทธิจร 368
ยาสุมกระหม่อมเด็ก สูตร 1 369
ยาสุมกระหม่อมเด็ก สูตร 2 370
ยาสุวรรณเกษรา 371
ยาเสมหะพินาศ 373
ยาแสงหมึก 374
ยาใส่บาดแผลฝีกระอักปากหมู 376
ยาหทัยวาตาธิคุณ 377
ยาหอมแก้ลมวิงเวียน 378
ยาหอมทิพโอสถ 380
ยาหอมเทพจิตร 383
ยาหอมนวโกฐ 386
ยาหอมน้อย 389
ยาหอมเบญโกฏ 391
ยาหอมอินทจักร์ 393
ยาห้าราก 396
ยาเหลืองปิดสมุทร 397
ยาอนันตคุณ 399
ยาอภัยสาลี 401
ยาอมแก้เจ็บคอ เสียงแหบแห้ง 402
ยาอัคคินีวคณะ 403
ยาอัคนีจร 405
ยาอัศฏาธิวรรค 406
ยาอายุวัฒนะ สูตร 1 408
ยาอายุวัฒนะ สูตร 2 410
ยาอำมฤควาที 411
ยาอำมฤต 413
ยาอินทจร 414
ยาอินทร์ประสิทธิ์ 415
 
ภาคผนวก
ภาคผนวก 1 เภสัชวัตถุ 417
ภาคผนวก 2 การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา 445
ภาคผนวก 3 วิธีการปรุงยา 453
ภาคผนวก 4 อภิธานศัพท์ 467
รายชื่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง 483
 
เอกสารอ้างอิง 503
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด