21 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น. ได้มีพิธีการตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สนับสนุนการดำเนินการด้านกัญชาทางการแพทย์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางกรมฯ ได้ดำเนินการตั้งแต่ ปลูก สกัด วิเคราะห์ วิจัย สายพันธุ์กัญชาต่างๆ
ในส่วนของการวิจัยเพื่อจำแนกสายพันธุ์ไทย เป็นกิจกรรมที่สำคัญ ที่ทางกรมฯ ได้ร่วมกับทีมวิจัย พัฒนา กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ดั้งเดิม ได้แก่
1.พันธุ์ หางกระรอก
2.พันธุ์ หางเสือ
3.พันธุ์ ตะนาวศรีก้านขาว
4.พันธุ์ ตะนาวศรีก้านแดง
โดยได้ศึกษาทางพันธุศาสตร์ พันธุกรรมและด้านเคมี ของกัญชาแต่ละพันธุ์ พบว่า กัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่น 3 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 กัญชาที่ให้สาร THC สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางเสือ และตะนาวศรีก้านขาว
แบบที่ 2 ที่ให้สาร THC และ CBD ในสัดส่วนเท่ากัน ได้แก่ กัญชาพันธุ์หางกระรอก
แบบที่ 3 กัญชาที่ให้สาร CBD สูง ได้แก่ กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดง
จากแต่ละพันธุ์ที่ให้สารสำคัญ THC และ CBD ในสัดส่วนที่ต่างกันนั้น จะมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคที่ต่างกัน
ในขณะนี้ทางกรมฯ ได้ทำการศึกษาเทคนิคการปลูกกัญชาให้มีคุณภาพดีและได้สารสำคัญสูง ในโรงเรือนแบบกรีนเฮ้าส์ และอยู่ระหว่างการจดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ เพื่อให้เป็นสายพันธุ์ไทยอ้างอิงของประเทศไทย
กัญชาที่ปลูกโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรียกว่าเป็น "กัญชาลอยฟ้า" เนื่องจากปลูกบนดาดฟ้าอาคารของกรมฯ
"ได้ทราบว่าทางกรมฯ กำลังมีการศึกษาสกัดสารจากราก ซึ่งพบว่าอาจมีผลกับการรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งก็ตรงกับเหมาะสมกับช่วงเวลานี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโควิด ถึงแม้จะหายแล้ว ก็อาจจะมีการสูญเสียเนื้อเยื่อของปอดที่ถูกทำลายไป หากทางกรมฯ สามารถที่จะพัฒนาวิจัย เพื่อนำส่วนใดของกัญชามาใช้รักษา ฟื้นฟู ความเสียหายของอวัยวะได้ ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลในวงการการแพทย์ และหวังว่าทางกรมฯ จะพัฒนาอย่างจริงจังและรวดเร็ว" นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมก่อนทำการตัดช่อดอกกัญชา