ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรมการแพทย์ กรมอนามัย ประสานเสียงเตือน ผลกระทบสุขภาพ หากใช้กัญชาไม่เหมาะสม

กรมการแพทย์ กรมอนามัย ประสานเสียงเตือน ผลกระทบสุขภาพ หากใช้กัญชาไม่เหมาะสม HealthServ.net
กรมการแพทย์ กรมอนามัย ประสานเสียงเตือน ผลกระทบสุขภาพ หากใช้กัญชาไม่เหมาะสม ThumbMobile HealthServ.net

อธิบดีกรมอนามัยชี้ 4 ปัจจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากการนำกัญชาไปใช้ที่ไม่เหมาะสมส่ง แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้หรือสัมผัสควันกัญชา ภายหลังราชกิจจาฯ ประกาศการทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

 
          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

          ซึ่งเนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้นสมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

 
 
          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การนำกัญชาไปใช้ที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1) กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม

2) ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

3) เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ

4) มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา
 
 
          “ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ ส่วนบุคลทั่วไป   ให้เลี่ยงการใช้เพื่อสันทนาการเช่นเดียวกัน และหากบุคคลใดหรือสถานที่ใดก่อให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชาซึ่งรบกวนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ถือว่ากระทำการอันเป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว 


 

กรมการแพทย์เตือนเสี่ยงเกิดอาการทางจิต


กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ระวังผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดอาการทางจิต พร้อมแนะนำผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุย หากมีอาการหลังจากใช้กัญชาให้รีบปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน
 
 
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565  กัญชาและกัญชง ถูกปลดล็อก ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป แต่ในส่วนของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ยังเป็นยาเสพติดในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2 % เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ เนื่องจากสาร THC เป็นสารเสพติด หากใช้ขนาดสูงเป็นประจำจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดได้ 

นอกจากนี้ยังห้ามนำเข้าพืชกัญชาและกัญชง ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ ซึ่งหลังจากนี้อาจทำให้กลุ่มวัยรุ่นรวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ บางกลุ่มอาจมีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

การออกฤทธิ์ของกัญชาในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้ตื่นตัว ตื่นเต้น ร่าเริง หัวเราะง่าย ช่างพูด พูดคนเดียว  ยิ้มคนเดียว ไม่หลับไม่นอนเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ชั่วโมง จะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายกับเมาเหล้า หน้าแดง ลิ้นไก่พันกัน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้ มีอารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น หูแว่ว

ดังนั้นผู้ใช้กัญชาจึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้


ทั้งนี้ในกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี กลุ่มผู้สูงอายุควรใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง  และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช รวมถึง สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร   
 
 

 

คำแนะนำจากสถาบันบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์ รวมไปถึงการนำสาระสำคัญในกัญชาไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรและอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งปลูก เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เหมือนพืชสมุนไพรประจำบ้าน นำมารักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว สร้างรายได้กับผู้ปลูก แต่หากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำงานได้ ความคิดและการตัดสินใจเสื่อมถอย

นอกจากนี้ยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่ใช้กัญชาในปริมาณมาก อาจจะทำให้เป็นโรคจิต เกิดอาการ วิตกกังวล หวาดระแวง เลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือน ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เตือนพ่อแม่ ผู้ปกครองหมั่นสังเกตุพฤติกรรมของบุตรหลาน และคนในครอบครัว

หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดให้รีบพูดคุย บอกกล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายที่จะตามมา รวมถึงปัญหาการเสพติด ให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่
  • สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานีโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี

ขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด