ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภูมิคุ้มกัน (โควิด) จะอยู่ได้นานแค่ไหน?

ภูมิคุ้มกัน (โควิด) จะอยู่ได้นานแค่ไหน? HealthServ.net
ภูมิคุ้มกัน (โควิด) จะอยู่ได้นานแค่ไหน? ThumbMobile HealthServ.net

ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะต้องฉีดโดส 3 กันหรือไม่ และเมื่อไหร่ ขณะที่ FDA , EMA ต่างยังคงปฏิเสธการจะให้ประชาชนเริ่มฉีดโดส 3

ภูมิคุ้มกัน (โควิด) จะอยู่ได้นานแค่ไหน? 

ผ่านไปอ่านเจอ คิดว่าน่าสนใจดี เลยยกมาครับ ความจริงก็คือ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า เราจะต้องฉีดโดส 3 กันหรือไม่ และเมื่อไหร่ แต่ ณ ปัจจุบันไม่ว่าจะ FDA , EMA ต่างยังคงปฏิเสธการจะให้ประชาชนเริ่มฉีดโดส 3 กัน เหตุผลหลักๆ ก็คือ แทนที่จะให้ประชาชนในประเทศที่มีเงินมานั่งได้โดส 3 กันนั้น วัคซีนเหล่านี้ควรจะกระจายไปให้ประเทศที่ขาดแคลนก่อน  แม้ว่า ภูมิคุ้มกันจะอ่อนลง แต่ก็ยังเรียกได้ว่า ดีพอในการป้องกันการติดเชื้อ และดีมากสำหรับการป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ ตราบใดที่ยังไม่ได้วัคซีนกันโดยทั่วถึง ก็จะเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสขึ้นเรื่อยๆ อินเดียคือตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด
​อีกอย่างที่อยากจะยกมาให้เห็นชัดๆ บทความนี้ผมยกมาจากหนังสือพิมพ์ Spiegel ของเยอรมันนะครับ ซึ่งบทความต้นทางนั้น ลงลิงค์ทุก Paper ตอนที่กล่าวถึงเลย แต่ผมทำในเฟสบุ๊คไม่ได้ ก็เลยใช้ลงแหล่งอ้างอิงกันตามจุดที่เอ่ยถึงนั้นๆ แทน เยอรมนีเก็บสถิติทางการในเรื่องโควิดละเอียดมากในทุกๆ เรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เวลาจะพูดกันถึงเรื่องนี้ ก็จะใช้การตีพิมพ์ในนิตยสารทางการแพทย์เป็นหลักทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นใครที่จะยกสถิติอะไรมา ผมก็จะถามกลับทุกครั้งนะครับว่า ผลวิจัยที่ไหน ตีพิมพ์ที่ใด มีการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระแล้วหรือไม่ นี่คือ มาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก และหนังสือพิมพ์เยอรมันเองก็ทำเช่นเดียวกันแบบที่เห็น แม้แต่ที่ลงเมือวันก่อนซึ่งก็มาจากข้อมูลสถิติทางการของอังกฤษ นั่นก็ต้องตีพิมพ์ และมีการตรวจสอบก่อน จึงจะถือว่า ผลน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับทั่วโลกครับ

อ้างอิง:​ https://cutt.ly/MQq37K2

ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานแค่ไหน?

อย่างที่เรารู้กันว่า ใครก็ตามที่เคยเป็นโรคหัดมักจะไม่เป็นโรคนี้อีก แม้แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสแบบครบชุดก็ยังปกป้องคนส่วนใหญ่จากโรคได้อย่างค่อนข้างแน่นอนไปตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก แต่ไม่ใช่ว่าทุกการเจ็บป่วยหรือการฉีดวัคซีนจะให้ความคุ้มครองที่ยาวนานเช่นนี้ไปหมด ใครก็ตามที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ก็สามารถล้มป่วยจากโรคนี้ได้อีกในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งต่อไป​
​คำถามที่มักจะถามกันว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เป็นเพียงการประมาณการของเหล่านักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แน่นอนว่า ทุกคนต่างอยากรู้ว่า ผู้คนจะได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำ หรือแม้แต่ป่วยซ้ำเป็นโรคโควิด-19 หลังจากการติดเชื้อ Sars-CoV-2 อีกครั้งหรือไม่ และระยะเวลาที่ฉีดวัคซีนมีผลป้องกันนานเพียงใด ความจริงก็คือ ไวรัสตัวนี้พึ่งจะระบาดอย่างแพร่หลายเป็นระยะเวลาเพียงแค่ปีครึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีประสบการณ์ว่า การป้องกันจากภูมิคุ้มกันของผู้คนจะอยู่ได้นาน 5, 10 หรือ 20 ปีหลังจากการติดเชื้อ​
​เป็นธรรมชาติที่รู้จักกันดีว่า โดยทั่วๆไปแล้วมนุษย์มักจะสร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างหลังจากการติดเชื้อ ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้พวกเขาป่วยในครั้งต่อไปจากเชื้อโรคตัวนี้อีก สิ่งนี้เกิดจากการตอบสนองที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นในภายหลัง (acquired immune response / erworbene Immunantwort) นอกจากนี้ยังมีภูมิคุ้มกันที่มีมาโดยกำเนิดซึ่งจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เร็วขึ้น แต่ไม่เฉพาะเจาะจง การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในภายหลังนี้ใช้เวลา แต่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่า​
ตรวจพบเซลล์หน่วยความจำหลังจากผ่านไปหลายทศวรรษ
​แอนติบอดีมักจะถูกกล่าวถึงในเรื่องนี้อยู่เสมอๆ ตัวอย่างเช่น ​ ภูมิต้านทานที่กำจัดฤทธิ์ของเชื้อ (neutralizing antibody ตัวย่อ NAb / ​ neutralisierende Antikörper) สามารถจัดการไวรัสได้ก่อนที่มันจะโจมตีเซลล์ หากมีแอนติบอดีตัวนี้เพียงพอ พวกมันจะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจนไม่มีการติดเชื้อเลย​
​อย่างไรก็ตาม แอนติบอดีก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเท่านั้น ยังมีส่วนประกอบอื่นที่ทำหน้าที่ร่วมอีก ทีเซลล์ (T-Cell) สามารถฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อเพื่อให้เชื้อโรคไม่สามารถแพร่กระจายต่อไปได้ พวกมันยังสามารถกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่น บีเซลล์ เพื่อผลิตแอนติบอดีจำเพาะเจาะจง ​ เซลล์ทั้งสองชนิด บีและทีเซลล์ สามารถพัฒนาเป็นเซลล์หน่วยความจำได้ สิ่งนี้ทำหน้าที่เก็บความทรงจำระยะยาวของการติดเชื้อ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถดำเนินการได้ทันทีหากต้องเผชิญกับเชื้อโรคเดิมอีกครั้ง ซึ่งการฉีดวัคซีนนั่นเองที่ถูกใช้เพื่อกระตุ้นส่วนนี้ของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ไม่มีใครต้องผ่านการติดเชื้อจริง​
จากการศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นว่า เซลล์หน่วยความจำยังคงมีอยู่ 50 ปีหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือ 90 ปีหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 เป็นต้น​
(อ้างอิง: https://cutt.ly/FQq3vjg / https://cutt.ly/XQq3v1h )​
เช่นเดียวกัน การติดเชื้อไวรัส Sars-CoV-2 ของคนส่วนใหญ่ก็ส่งผลให้เกิดการพัฒนาภูมิคุ้มกันเหล่านี้ อย่างที่พอจะเดากันได้แต่แรก ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้ก็จะช่วยปกป้องการติดเชื้ออีกครั้งได้เป็นอย่างดีเป็นเวลาอย่างน้อยหลายเดือน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) เขียนว่า การศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อจะได้รับการป้องกันจากภูมินี้อย่างดีเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 เดือน แน่นอนว่า ยังไม่มีการศึกษาที่มีระยะเวลาติดตามผลยาวกว่านี้ ​จากข้อมูลของ WHO การติดเชื้อ Sars-CoV-2 สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสซ้ำได้ 80-90% และควรจะสามารถป้องกันได้นานสูงสุดถึง 7 เดือน และป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 ได้ถึง 94% ​
​อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกครั้งได้สูงกว่า จากการศึกษาจากเดนมาร์กในเดือนมีนาคมพบว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับการป้องกันจากการติดเชื้อซ้ำเพียง 50% ในระหว่างระยะเวลาการศึกษา​
(อ้างอิง: https://cutt.ly/LQq3QIV )

แอนติบอดีจากบุคคลที่เคยติดเชื้อมีประสิทธิภาพน้อยกว่ากับเดลต้าอย่างเห็นได้ชัด​

​แต่ไวรัสหลายชนิดก็มีวิธีการหลบหลีกภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านการกลายพันธุ์ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของ Sars-CoV-2 สามารถทำลายการป้องกันนี้ได้มากเพียงใดยังไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัด มีกลุ่มวิจัยทำการทดสอบว่า แอนติบอดีในเลือดของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสเดียว หรือสองโดสสามารถจัดการตัวกลายพันธุ์เดลต้าได้ดีเพียงใด ผลการวิจัยพบว่า ปฏิกิริยาหลังฉีดวัคซีนโดสเดียวน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ การฉีดวัคซีนสองโดสเท่านั้นที่นำไปสู่การจัดการเชื้อไวรัสได้ ​ ผลลัพธ์ชี้ไปในทิศทางเดียวกับผลจากอังกฤษที่ออกมา กล่าวคือ ประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนไม่ได้ผลดีเช่นเดิมเหมือนกับ Sars-CoV-2 รุ่นแรก ​ แต่ก็ยังคงป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรงผ่านเดลต้าได้อย่างน่าเชื่อถือ​
​เช่นเดียวกัน..แอนติบอดีของผู้ที่ฟื้นตัวแล้วก็มีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการจัดการกับเดลต้าอย่างเห็นได้ชัด สำหรับการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Nature" มีการทดสอบผู้ปลอดเชื้อแล้วบางคนที่ได้รับวัคซีนหลังการติดเชื้อ (ทั้ง AstraZeneca, Biontech หรือ Moderna) ผลก็คือ แอนติบอดี "เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก" ในการต่อต้านไวรัสตัวอัลฟาและเบต้า รวมถึงตัวเดลต้าด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่หายดีแล้วแต่ไม่ได้รับวัคซีน คณะกรรมการการฉีดวัคซีนในเยอรมนีจึงแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อ Sars-CoV-2 ฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 เพียงโดสเดียว​
​(อ้างอิง: https://cutt.ly/yQq3YYw / คำแนะนำการฉีดวัคซีนเยอรมัน: https://cutt.ly/lQq3PeU )​
​เซลล์หน่วยความจำที่มีหน้าที่ป้องกัน Sars-CoV-2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันก็ได้รับการตรวจพบในผู้ที่ฟื้นตัวแล้วด้วย ตามรายงานใน "Nature" และ "Science" อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลา 3-5 วันสำหรับเซลล์หน่วยความจำในการระดมพลจนมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม ตามรายงานของ Science ในกรณีของ Sars-CoV-2 นี้ สิ่งนี้อาจเพียงพอที่จะปกป้องผู้ป่วยจากโรคปอดบวมอันเป็นผลมาจากการติดเชื้อโคโรนาหรือจากโรคโควิด-19 ที่รุนแรง​
​(อ้างอิง: https://cutt.ly/qQq3Dpv / ​ https://cutt.ly/qQq3FVy )​
​น่าเสียดายที่เรายังไม่สามารถระบุได้ว่า เซลล์และแอนติบอดีที่ตรวจพบสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือโรคได้นานแค่ไหน และดีเพียงใด เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถหาข้อสรุปโดยตรงเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันได้บนพื้นฐานของการตรวจวัดค่าต่างๆดังกล่าว เป็นสิ่งที่กลุ่มวิจัยนี้ได้สรุปทิ้งไว้ในวารสาร "Science"
​นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบอีกว่า วัคซีนชนิดต่างๆ ที่สามารถป้องกัน Sars-CoV-2 ได้เป็นอย่างดีนั้นจะสามารถป้องกันได้นานแค่ไหน? ในบางกรณี การฉีดวัคซีนกระตุ้นครั้งที่ 3 อาจสมเหตุสมผลในเร็วๆ นี้ เช่น ในกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนลงเนื่องจากการใช้ยา ​ เช่น เนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการรักษามะเร็ง​
​และท้ายที่สุด ในขณะนี้ก็ยังมีการหารือเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนครั้งที่ 3 สำหรับผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน Leif Erik Sander จากโรงพยาบาล Berlin Charité กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ SPIEGEL ว่า ผู้สูงอายุสามารถผลิตแอนติบอดีและทีเซลล์ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยความทรงจำได้น้อยกว่าคนอายุน้อยกว่าอย่างชัดเจน ​ ที่เพิ่มเข้ามาอีก ก็คือ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาลดประสิทธิภาพการจับตัวของแอนติบอดีลงไปอีก "นอกจากนี้ ผู้สูงอายุก็ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสำหรับการป่วยและมีอาการรุนแรงจาก coronavirus และเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกตั้งแต่ต้นปีในเยอรมนี ดังนั้นจึงมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการฉีดวัคซึนกระตุ้นให้ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง” Sander กล่าว อย่างไรก็ตาม ในกรณีของคนหนุ่มสาว การป้องกันจากการฉีดวัคซีนอาจ "คงอยู่นานหลายปี ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรได้รับการปกป้องอย่างดีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งที่สอง"
​อินทรีล่าสาร
​25/07/2021
GermanyInsights เยอรมันอินไซต์
Copyright © 2020-2021 เยอรมันอินไซต์ - Germany Insights. All rights reserved.
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด