ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เปิดประสบการณ์การต่อสู้กับมะเร็งเต้านม

คุณรัตนา แก้วทอง มาเล่าประสบการณ์ตรงของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ในรายการ Happy & Healthy ขสทบ. FM 102 วันที่ 1 กันยายน 2555

 
 
DJ: คุณรัตนาทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่เมื่อไหร่คะ?
รัตนา : เมื่อเดือน กันยายน  2554  ค่ะประมาณ 1 ปีแล้ว
 
 
DJ: ทราบได้อย่างไรคะ?
รัตนา : ทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปีค่ะ  คือ ได้ตรวจแมมโมแกรมแล้วพบมามีก้อนเนื้อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 cm ที่เต้านมข้างซ้ายค่ะ แต่ต้องบอกก่อนว่า  ปกติตรวจแมมโมแกรมทุกปี  และเมื่อประมาณปี 51-52  ที่ผ่านมาก็ตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้วพบก้อนเล็กๆนี้อยู่แล้ว ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว  จึงมาพบแพทย์และแพทย์ก็แนะนำให้เอาออก  แต่ดิฉันคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก  และตัวเองคงไม่โชคร้ายหรอก  ก็เลยปล่อยมาเรื่อยๆ  จนขนาดใหญ่เท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 cm.  อย่างที่บอกข้างต้น
 
 
DJ:   มีสัญญาณอื่นๆร่วมด้วยไหมคะ  อย่างเช่น เจ็บหน้าอก ?
รัตนา : ด้วยปกติดิฉันเป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็เลยไม่เคยสังเกตอาการเท่าไหร่  และคิดว่าบางทีการเจ็บหน้าอกน่าจะมาจากการออกกำลังกายของเราค่ะ
 
 
DJ:   ความรู้สึกแรกที่ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมล่ะคะ  รู้สึกอย่างไรบ้าง?
รัตนา : เสียใจมาก  ร้องไห้  เพราะเราไม่คิดว่าเราจะเป็น เราคิดว่าตัวเองแข็งแรงมาตลอด  และที่เสียใจที่สุดคือ  เราไม่เชื่อแพทย์ที่ให้เราผ่าตัดเอาก้อนเนื้อนั้นออกตั้งแต่ที่มันยังเป็นเมล็ดถั่วอยู่
 
 
DJ:   อะไรที่เป็นกำลังใจให้คุณรัตนาลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรคคะ?
รัตนา : ดิฉันมั่นใจในตัวแพทย์ค่ะ  คุณหมอบอกกับดิฉันว่า “มันเป็นเนื้อที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เนอะ” เราต้องเอามันออกไปนะ  ไม่เจ็บหรอก รวมถึงเคยมีญาติเคยมารักษากับท่านแล้วหายด้วยค่ะ   เลยทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
 
DJ:   ตอนที่พบเนื้อร้ายนี้ในปี 54  คุณหมอบอกกับคุณรัตนาว่า  เป็นระยะไหนแล้วคะ?
รัตนา : ระยะที่ 2 แล้วค่ะ
 
 
DJ:   ด้วยความที่ได้ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี  เลยทำให้ทราบเร็ว และหลังจากที่ผ่าตัดก้อนเนื้อที่ไม่ดีออกไปแล้ว  คุณหมอแนะนำวิธีการรักษาต่ออย่างไรบ้างคะ?
รัตนา : พูดถึงตอนผ่าตัดก่อนนะคะ  ตอนนั้นญาติๆก็กังวลต่างช่วยกันแนะนำวิธีการรักษาแบบต่างๆ เช่น กินสมุนไพร  กินยาหม้อบ้าง แต่ดิฉันมั่นใจในตัวแพทย์ของรพ.วิภาวดีจึงตัดสินใจผ่าตัด และได้เลยไปหาคุณแม่แล้วบอกกับท่านเรื่องอาการป่วยซึ่งท่านทราบเป็นคนสุดท้ายเลยค่ะ  แล้วท่านก็บอกกับดิฉันว่าเป็นได้ก็ต้องหายได้นะลูก ทำให้ดิฉันจึงมีกำลังใจมากขึ้นด้วย ที่สำคัญเคยมีญาติป่วยเป็นโรคเดียวกันผ่าตัดแล้วก็หายด้วยค่ะ
 
 
 
  
 DJ:   แสดงว่าคุณรัตนามีกรรมพันธุ์เป็นด้วยใช่ไหมคะ?
รัตนา : เป็นญาติห่างๆค่ะ
 
 
DJ:  การผ่าตัดของคุณรัตนาเป็นการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งเต้านม หรือเอาออกแค่บางส่วนคะ?
รัตนา : ผ่าตัดเอาออกไปทั้งเต้าเลยค่ะ  และหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ก็ต้องไปให้ คีโม ต่อ และด้วยความเป็นระยะที่ 2  คุณหมอแนะนำ ว่าให้คีโม 6 ครั้ง  และให้ทานยาต่อ  โดยที่ไม่ต้องฉายแสง  
 
 
DJ:   การให้คีโมแต่ละครั้งมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้างคะ?
รัตนา : มันทรมานมากเลยค่ะ  ครั้งแรกเกือบถอดใจ จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันเกิดพอดี  ตอนนั้นลูกๆและสามีรวมถึงญาติๆมาอวยพรวันเกิดและให้กำลังใจกันมากมาย  เลยทำให้ดิฉันมีกำลังใจสู้ต่อไปค่ะ
 
 
DJ:   หลังจากให้คีโมแล้ว  ทานยาแล้ว คุณหมอแนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างคะ?
รัตนา : คุณหมอแนะนำว่าให้รับประทานอาหารทุกๆอย่าง  แต่ต้องเลือกที่จะรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงเม็ดเลือดขาวของเรา  เพราะยาที่เราทานนั้นมันมีผลในการทำลายเม็ดเลือดขาว  รวมถึงแนะนำให้ออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ ซึ่งปกติดิฉันก็เป็นคนชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว  และหลังจากให้คีโมประมาณ 1 อาทิตย์ ดิฉันก็ไปออกกำลังกายแล้ว  แต่ก็เป็นออกกำลังแบบไม่หักโหม คือออกกำลังกายแบบเท่าที่ทำได้  ประมาณ 15 นาทีแล้วค่อยๆขยับเป็น 30  นาที  
 

DJ:   อยากให้คุณรัตนา  ช่วยแนะนำกับคุณผู้หญิงทุกคนหน่อยค่ะ เรื่องการดูแลสุขภาพ?
รัตนา : แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีนะคะ  และอย่ากลัวกับการตรวจแมมโมแกรม และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ  การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วย เพราะถ้าเราพบความผิดปกติจะได้รีบทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว  เราต้องรักตัวเองก่อนนะคะ 
 
 
DJ:   อยากให้ฝากกำลังใจให้กับผู้ที่เป็นโรคนี้ รวมถึงคนที่อยู่รอบๆข้างด้วยค่ะ?
รัตนา : เราควรจะต้องให้กำลังใจกับตัวเองก่อน เพราะไม่มีใครรักเราเท่ากับตัวเราเอง ส่วนคนที่อยู่รอบข้างนอกจากให้กำลังใจแล้วก็ไม่ควรห้ามเวลาที่เขาจะทำอะไร เพราะควรให้เขาได้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ที่สำคัญคือต้องอดทนนะคะ และสมัยนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก็ก้าวหน้ามากเพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล  นอกจากนี้ก็ยังมีชมรมต่างๆที่เป็นการรวมตัวกันของผู้ป่วย  เราก็สามารถไปร่วมทำประโยชน์กับชมรมเหล่านี้ได้ 
 
 
DJ:   หลังจากรักษาตัวมา 1 ปี คุณรัตนาต้องดูแลตัวเองอย่างไรต่ออีกไหมคะ?
รัตนา : ทำตามคำแนะนำของแพทย์ทุกอย่าง  และมาพบแพทย์ตามที่นัดทุกครั้ง เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกาย  นอกจากนั้นก็ไปออกกำลังกายอาทิตย์ละประมาณ 3 ครั้งค่ะและตอนนี้ดิฉันก็แข็งแรงดีแล้วค่ะ
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด