คำอธิบาย/ข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย
ต่อกรณีหนังสือเวียนนี้ จึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย ได้กรุณาให้คำอธิบายและชี้เป็นข้อสรุป สำหรับประชาชนได้รับทราบโดยทั่วไปแล้ว เช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำอธิบายและความเห็นในข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "
Thanakrit Vorathanatchakul" ต่อ กรณีหนังสือเวียนดังกล่าวไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับรู้ รับทราบ ดังนี้
"สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกหนังสือเวียน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 เรื่อง ข้อพิจารณาความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่ควรจะได้รับทราบไว้ จึงขอสรุปสาระสำคัญตามหนังสือเวียนดังกล่าว ดังนี้
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีก
ดังนั้น การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกัญชา หรือการกระทำอื่นเกี่ยวกับพืชกัญชาก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งเดิมเคยเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
จึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
- ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
- ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
- และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น
- ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
ผลทางกฎหมาย 6 ประการ
ผลทางกฎหมายจากการที่พืชกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป จึงกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาดังกล่าวพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
2. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5)
3. ศาลไม่อาจขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาลได้ อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลก็ต้องยกเลิกการฝากขัง ปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือตรวจคืนหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว (ถ้ามี) หรือหากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ก็ต้องพิพากษายกฟ้อง
4. คดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ได้รับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
ดังนั้น หากจำเลยอยู่ระหว่างการถูกกักขังแทนค่าปรับ ศาลก็ต้องปล่อยตัวจำเลยเนื่องจากไม่มีโทษปรับที่จะกักขังแทนค่าปรับต่อไปได้
หรือหากจำเลยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤติ ก็ต้องยกเลิกการคุมความประพฤติ
และหากจำเลยอยู่ระหว่างการถูกจำคุกในการกระทำความผิดฐานอื่นด้วย ก็จะต้องมีการแก้ไขหมายจำคุกเพื่อยกเลิกการบังคับโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชา
5. ไม่อาจนำคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาซึ่งศาลเคยมีพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อนมาเป็นเหตุเพิ่มโทษ บวกโทษ หรือไม่รอการลงโทษในคดีหลังได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ดังที่กล่าวไป ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับพืชกัญชาในคดีก่อน
6. พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 134
*ภาพจากเพจ
Thanakrit Vorathanatchakul
ตัวอย่างแบบคำพิพากษากรณีกฎหมายยกเลิกความผิดฐานจำหน่ายพืชกัญชา
"พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ระหว่างพิจารณา ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป การที่จำเลยจำหน่ายพืชกัญชาตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/3 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง (หรือวรรคสอง) และประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93,148 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 6 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และเมื่อพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 134 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 จึงไม่อาจริบได้
พิพากษายกฟ้อง ให้คืนพืชกัญขาของกลางแก่เจ้าของ"
สำนักกฏหมายและวิชาการศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม
พฤษภาคม 2565
อ่านเพิ่มเติม