ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นคืออะไร

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ในเด็กวัยเรียน มีสาเหตุจากความบกพร่องของสารเคมีในสมองที่ใช้ในการควบคุมสมาธิ มักแสดงอาการในช่วงวัย 4-5 ขวบขึ้นไป อาการสามารถพบได้ทั้งปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานไม่เสร็จ จดการบ้านไม่ทัน หรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น เล่นรุนแรงโลดโผน พูดแทรกผู้ใหญ่บ่อย ๆ หุนหันพันแล่น ทั้งนี้ผู้ใหญ่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่งหรือเป็นเด็กซนตามวัย ซึ่งเมื่ออาการเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดเป็นปัญหาในหลาย ๆ ด้านต่อมาโดยเฉพาะปัญหาครอบครัวเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งส่งผลต่อการรักษาในระยะยาว

 
โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันมีการพูดถึงโรคสมาธิสั้นมากขึ้นเนื่องจาก ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น
 
โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยถึงร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน มักพบในเด็กผู้ชาย อาการแสดงประกอบด้วย 3 อาการหลักได้แก่
  • อาการขาดสมาธิ (Inattention) เช่น วอกแวกง่าย เหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ ขี้ลืม
  • อาการซน (Hyperactivity) เช่น ยุกยิก อยู่ไม่สุข พูดมาก เล่นเสียงดังจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
  • อาการหุนหันพันแล่น (Impulsivity) เช่น วู่วาม ใจร้อน รอคอยอะไรไม่ได้ พูดแทรกบ่อย ๆ ในวงสนทนา
อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงแค่อาการเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อโรคสมาธิสั้นไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดปัญหาในด้านอื่นตามมา เช่น พฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว อารมณ์ซึมเศร้า/วิตกกังวล นอกจากนี้อาจส่งผลในระยะยาวเช่น ออกจากโรงเรียนก่อนวัย และใช้สารเสพติด
 

การวินิจฉัยทำได้อย่างไร

  • โรคสมาธิสั้นสามารถวินิจฉัยได้เพียงแค่พามาตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นโดยอาศัยประวัติและอาการทางคลินิก ไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจอื่น ๆ ที่ยุ่งยาก อาจมีการขอประวัติจากทางโรงเรียนเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย นอกจากนี้อาจต้องส่งตรวจประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) หรือส่งประเมินทักษะการอ่าน-เขียน-คำนวณเพิ่มเติมในแต่ละรายไป
  • นอกจากโรคสมาธิสั้นแล้ว โรคอื่น ๆ ที่สามารถพบร่วมกัน ได้แก่โรคปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disorder : LD) และโรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder : ODD) ซึ่งทำให้โรคสมาธิสั้นมีความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาควบคู่กันไป

การรักษาโรคสมาธิสั้น

  • เด็กสมาธิสั้นทุกคนจำเป็นต้องกินยาหรือไม่
  • การรักษาสมาธิสั้นโดยทั่วไปแพทย์จะให้คำปรึกษากับพ่อแม่ในการปรับพฤติกรรมเบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มใช้ยา พ่อแม่สามารถเริ่มปรับพฤติกรรมโดยให้คำชมเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมดี สามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้ นอกจากนี้การทำข้อตกลงกับเด็กก่อนจะทำให้เด็กสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น 
  • เมื่อแพทย์ได้ประเมินเด็กอย่างละเอียดและเห็นว่ายามีความจำเป็น เช่น ในกรณีที่เด็กไม่ร่วมมือในการปรับพฤติกรรม แพทย์จะให้คำแนะนำถึงประโยชน์และผลข้างเคียงจากการใช้ยาร่วมกับการติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนในการรักษาอย่างครอบคลุม

ยาสมาธิสั้นมีประโยชน์และผลข้างเคียงอย่างไร

  • ยาสมาธิสั้นมีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมสมาธิและลดปัญหาพฤติกรรมในห้องเรียนนำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีขึ้น โดยที่ยาไม่ได้ไป “กด” สมองแต่อย่างใด ยาจะช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น
  • ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะกลัวผลข้างเคียงของยา เช่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้อง ซึ่งผลข้างเคียงนี้สามารถเกิดได้ในเด็กบางรายและเกิดจากยาบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้ผลข้างเคียงจากยาจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเด็กรับประทานยาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง
  • ทั้งนี้แพทย์จะใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อแพทย์เห็นว่าเด็กมีอาการดีขึ้นจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงจนสามารถหยุดยาได้

เด็กสมาธิสั้นจะสามารถมีชีวิตเหมือนเด็กปกติคนอื่น ๆ ได้หรือไม่

เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทุกประการไม่มีข้อจำกัดทางสังคมหรือทางการศึกษาแต่อย่างใด ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในการดูแลเด็กสมาธิสั้นคือความรักความเข้าใจของพ่อแม่ที่มีต่อเด็ก ร่วมกับการติดตามอาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง
 
นพ.ทรงภูมิ   เบญญากร
กุมารแพทย์ จิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น รพ.วิภาวดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด