เจ้าหน้าที่กรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่มีคลิปวิดิโอลูกค้าชาวต่างชาติยืนต่อแถวรอซื้อกัญชาและรวมกลุ่มสูบกัญชาในบริเวณสถานประกอบการแห่งหนึ่ง ในย่านลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีการจำหน่ายเพียงช่อดอกกัญชา ไม่มีอาหารหรือเครื่องดื่มผสมกัญชา ย้ำ ต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีการสูบกัญชาส่งกลิ่นเหม็นและควันรบกวนผู้อื่น อาจเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญ และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำโดย เจ้าหน้าที่จากกองกฎหมาย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ โดยมี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจลุมพินี ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบกิจการจำหน่ายกัญชาแห่งหนึ่ง ย่านลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พบว่า สถานประกอบกิจการดังกล่าวมีการจำหน่ายกัญชา ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม (กัญชา) เพื่อการค้า (ภท.11) จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้ว และไม่พบว่ามีการทำ ปรุง ประกอบ หรือการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จหรือเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาแต่อย่างใด
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กรมอนามัยยังได้เน้นย้ำอีกว่า นอกจากการขออนุญาตของสถานประกอบการให้ถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ควรแจ้งผู้รับบริการห้ามสูบกัญชาในพื้นที่บริเวณสถานประกอบการ เนื่องจากหากพบว่ามีการสูบกัญชาส่งกลิ่นเหม็นและควันที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนหรือผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงจะถือว่าเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีอำนาจออกคำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขและระงับเหตุรำคาญ หากยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม สามารถออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารสถานที่ นั้น ระงับเหตุรำคาญภายในระยะเวลาอันสมควร และกำหนดวิธีการเพื่อป้องกัน
มิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในอนาคตได้
“ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28 ดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านอาหารที่ใช้กัญชาในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารประเภทปรุงสำเร็จเพื่อการจำหน่าย ต้องติดข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการใช้กัญชาที่ชัดเจนแสดงเมนูอาหาร และแสดงข้อแนะนำในการบริโภคอาหารที่มีกัญชา และต้องขอรับใบอนุญาต หรือขอรับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มาตรา 38 กำหนดให้ผู้ใดจะจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดซึ่งมีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และไม่ใช่เป็นการขายของในตลาด ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนการจัดตั้ง ถ้าสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับหนังสือรับรองการแจ้งก่อนการจัดตั้ง หากไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือกรณีไม่มีหนังสือรับรองการแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท เช่นเดียวกัน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว