การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy)
เป็นการส่องกล้องเพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่(Colonoscopy) ตั้งแต่ทวารหนักจนถึงลำไส้ใหญ่ ส่วนต้น(Caecum) ไส้ติ่ง (Appendix) และบริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย (Terminal lleum) ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความปลอดภัยสูงโดยใช้เวลาในการตรวจไม่นาน (สำหรับในกรณีที่ไม่มีการตัดเนื้องอก) ถ้าผู้ป่วยอายุน้อยและไม่มีโรคประจำตัวก็สามารถตรวจโดยไม่ต้องนอน รพ.
แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตับและโรคไต จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในรพ.เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่าง หรือหลังการตรวจรักษาได้
ข้อบ่งชี้ของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
1. การถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม(Abnormal Bowel Habit) เช่น ท้องผูกมากขึ้น มีท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายอุจจาระมีเลือดหรือมูกปน หรือท้องเสียบ่อยๆ ถ่ายอุจจาระไม่สุด
2. ปวดท้องด้านล่าง ปวดเบ่งอยากถ่าย หรือปวดเป็นๆหายๆ
3. มีการตรวจพบความผิดปกติในภาพถ่ายรังสีของลำไส้ใหญ่(Abnormal Barium enema)
4. มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้
5.อุจจาระมีลักษณะปกติ แต่ตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบมีเลือดปน (ผล Occult blood test ได้ผลเป็นบวก)
การเตรียมตัวของผู้ป่วยและขั้นตอนการตรวจ
1. ผู้ป่วยควรงดยา Aspirin หรือยาที่มีธาตุเหล็กประกอบอย่างน้อย 7 วันก่อนตรวจ
2.เพื่อให้ลำไส้ของผู้ป่วยสะอาด ปราศจากอุจจาระที่ผิวของลำไส้ใหญ่ จึงต้องมีการเตรียมผู้ป่วยเพื่อการส่องกล้อง ดังนี้
- สามวันก่อนตรวจให้รับประทานอาหารที่มีกากน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ปลา ข้าว ขนมปังสีขาว เนย นม น้ำผึ้ง ชา กาแฟ “ห้ามรับประทานอาหารที่มีกากมาก” เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง
- หนึ่งวันก่อนตรวจ ให้รับประทานอาหารเหลวใสทุกมื้ออาหาร และดื่มน้ำมากๆ(อาหารเหลวใส คือ น้ำผลไม้ต่างๆที่ไม่มีกาก น้ำชาไม่ใส่นม กาแฟดำ น้ำซุปใสที่ไม่มีกากอาหาร และน้ำหวาน)
- การให้ยาระบายเพื่อให้ลำไส้ไม่มีอุจจาระ(ตามแพทย์สั่ง) ในตอนเย็นหรือก่อนนอนหรือเช้าวันตรวจมารับประทานที่รพ. โดยที่ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี ได้จัดเตรียมห้องสำหรับผู้รับการตรวจโดยเฉพาะ(แยกห้องชาย/หญิง)
การดูแลหลังการตรวจ
1. งดน้ำและงดอาหารประมาณหนึ่งชั่วโมง จนกว่าอาการทั่วไปหรือจนกว่าจะรู้สึกตัวเป็นปกติ
2.ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องอืด แน่น เนื่องจากลมที่แพทย์ใส่เข้าไปในลำไส้ ซึ่งจะหายไปในเวลาไม่นาน อาจมีความรู้สึกปวดท้องอยากถ่าย
3. อาจมีเลือดออกปนอุจจาระเล็กน้อยในสองวันแรก (กรณีตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ)
4. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง เป็นหัตถการที่ปลอดภัยสูง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ ลำไส้ทะลุ หรือฉีกขาด ซึ่งต้องผ่าตัดซ่อมแซมมีน้อยมาก เลือดที่ออกจากการตัดชิ้นเนื้อหรือติ่งเนื้อลำไส้ มักหยุดได้เอง หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน มีไข้ หรือเลือดออกจากทางทวารหนักมากกว่าครึ่งถ้วยกาแฟ ควรติดต่อแพทย์โดยด่วน
ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร