วันนี้ (30 มิถุนายน 2564) ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์มนัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานรักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยมีนายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีและคณะให้การต้อนรับ
ดร.สาธิต กล่าวว่า ในวันนี้ได้ลงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซี่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. สังกัดกรมการแพทย์ ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 โดยพบว่ามีความพร้อมและความคล่องตัวสูง ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามาจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลจากสายด่วน กรมการแพทย์ 1668 และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลใกล้เคียง ทั้งนี้หลังจากที่ ศบค. มีนโยบายให้ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว อาการน้อยหรือ
ไม่มีอาการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อให้มีเตียงรองรับดูแลผู้ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลนพรัตน์ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเขียวที่ไม่มีอาการ และสมัครใจที่จะรักษาตัวที่บ้าน จำนวน 4 ราย ซึ่งโรงพยาบาลมีการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนระหว่างรักษาตัวที่บ้าน พร้อมมอบอุปกรณ์ในการดูแลตนเอง เช่น อุปกรณ์วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนในเลือด โดยใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ดูแลหากมีอาการเพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถรับมารักษาตัวในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลนพรัตน์ ได้ใช้พื้นที่อาคาร 5 ซึ่งเดิมวางแผนให้เป็นอาคารแพทยศาสตร์ศึกษา เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด จึงได้ปรับแผนเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและสีแดงโดยเฉพาะ รวมทั้งสิ้น 100 เตียง นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยายที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สาขาคุ้มเกล้า อีก 60 เตียง ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว โดยจัดทีมสหวิชาชีพ 3 ทีม ซึ่งเป็นบุคลากรในโรงพยาบาล ปฏิบัติงานทีมละ 14 วัน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ และแพทย์สูตินารีเวช สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดแม่และเด็กโดยเฉพาะ เป็นต้น หมุนเวียนกันมาทำงาน ต้องขอชื่นชมซึ่งหลายคนมีประสบการณ์จากการลงไปช่วยปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วงที่มีการระบาดทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดเป็นไปด้วยความคล่องตัว
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 8.00 น. มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตั้งแต่ระลอกเมษายน-ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,199 ราย หายป่วยกลับบ้านได้กว่า 1,005 ราย
30 มิถุนายน 2564
กรมการแพทย์ ได้เผยแพร่แนวทาง Home isolation สำหรับ ผู้ป่วยโควิด 19 มีดังนี้
- ระหว่างรอ admit โรงพยาบาล
- แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้
- รักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันและจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home isolation
ผู้ที่เข้าเกณฑ์การทำ ‘Home isolation’ มีดังนี้
- เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1คน
- ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 3030กก./ม.2 หรือ น้าหนักตัว > 90 กก.)
- ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3,4 ) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง