วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของบรรพบุรุษของเรามากกว่า 6 พันปี แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักโรคนี้ดีขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีนี้เอง จากการค้นพบเชื้อวัณโรค โดยโรเบิร์ต คอค นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน หลังจากนั้นจึงได้มีวิวัฒนาการในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคดีมากขึ้นเรื่อยๆ มาตามลำดับ
ปัญหาวัณโรคของมนุษย์ชาติในปัจจุบัน
จากการที่มีการพัฒนามาตรฐานการรักษาและการควบคุมวัณโรคที่ได้ผล องค์การอนามัย-โลกเคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี พ.ศ.2543 จะสามารถควบคุมสถานการณ์ของวัณโรคในประชากรโลกให้ได้เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อสำคัญในอดีตเช่น ไข้ทรพิษ แต่เมื่อใกล้กำหนดการณ์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ จนองค์การอนามัยโลกต้องมีการปรับเป้าหมายและประกาศออกมาว่า “วัณโรคกำลังเป็นภาวะฉุกเฉินที่คุกคามมนุษยชาติ” ทั้งนี้สาเหตุหลักเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อเอชไอวีและเชื้อวัณโรคดื้อยาวัณโรคกับการติดเชื้อเอชไอวี
ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกายจะทำให้เกิดเป็นวัณโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไปหลายสิบเท่า ขณะเดียวกันเชื้อวัณโรคที่แอบแฝงอยู่ในคนก่อนที่จะมีการติดเชื้อเอชไอวี สามารถกลับมาเพิ่มจำนวนและก่อโรคได้ง่ายขึ้นเมื่อคนๆ นั้นเริ่มมีภูมิคุ้มกันลดลงถึงระดับหนึ่งภายหลังการติดเชื้อเอชไอวี การเกิดวัณโรคในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจะเป็นปัญหาสำหรับแพทย์ในด้านการวินิจฉัย เนื่องจากลักษณะของโรคแยกได้ยากจากการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ ขณะเดียวกันการรักษาก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น แม้ว่าชนิดยาที่ใช้รักษาและระยะเวลาที่ใช้รักษาจะไม่แตกต่างจากคนปกติ แต่เนื่องจากพบผลอันไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้รักษาบ่อยกว่า และผู้ป่วยมักจะได้รับยาอื่นร่วมด้วยทำให้มีปฏิกิริยาระหว่างยาได้มากขึ้น ดังนั้นผลการรักษาวัณโรคโดยรวมในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งในแง่การรักษาครบและการรักษาหายขาดจึงไม่ดีเท่ากับคนทั่วไป
นอกจากนี้แล้วขณะที่เกิดวัณโรคโดยที่ยังไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แย่ลง และทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงได้ ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยวัณโรคหรือผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ แพทย์จะให้ข้อมูลและแนะนำการตรวจค้นหาโรคที่อาจพบร่วมกันนี้ได้ตามปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย
สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย
ปัจจุบันพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 5 หมื่นคน ทำให้ประเทศไทยติดอันดับที่ 19 ของประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยวัณโรคต่อจำนวนประชากรสูง แต่ยังโชคดีที่ว่าอัตราการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant tuberculosis, MDR-TB) ในผู้ป่วยรายใหม่ของประเทศไทยยังต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าเป็นภาวะวิกฤติของประเทศนั้นๆ แต่ถ้าเจาะเป็นรายภูมิภาคหรือประชากรกลุ่มของประเทศ อัตราการติดเชื้อ MDR-TB ในผู้ป่วยรายใหม่สูงเกินจุดวิกฤติในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดชายแดนประเทศพม่า หรือ กลุ่มประชากรในทัณฑสถาน เป็นต้น
ในจำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดของประเทศไทย ประมาณร้อยละ 10 เป็นวัณโรคที่เกิดขึ้นในอวัยวะอื่นๆ นอกปอด ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มปอด ฯลฯ ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคนอกปอดแม้ว่าจะให้การวินิจฉัยยากกว่า แต่ไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเทียบกับวัณโรคปอด เนื่องจากเกิดการติดต่อไปสู่คนรอบข้างได้น้อยกว่ามาก ในบรรดาคนที่เป็นวัณโรคปอดนั้นประมาณร้อยละ 60 ตรวจพบเชื้อวัณโรคด้วยการย้อมหรือเพาะเชื้อจากเสมหะ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความสำคัญในแง่การควบคุมโรค เนื่องจากเป็นแหล่งกระจายเชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้างได้โดยง่าย
จะทำอย่างไรเมื่อเกิดวัณโรค
อาการนำของวัณโรคปอดที่สำคัญคือ อาการไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือไอมีเลือดออกร่วมด้วยได้ เชื้อวัณโรคติดต่อจากคนไปคนผ่านทางละอองเสมหะที่เกิดจากการไอ จาม หรือการใช้เสียง เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปโดยง่ายโดยแสงสว่างและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก ดังนั้นผู้ที่เป็นวัณโรคในระยะที่เริ่มการรักษา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรก จึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กและคนชรา และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะที่ผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานานโดยเฉพาะถ้าเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำตัวจากคนอื่น หลังจากทำการรักษาจนอาการไอหายไปแล้ว ยิ่งถ้าแพทย์ตรวจเสมหะซ้ำแล้วว่าไม่พบเชื้อวัณโรค ก็จะปลอดภัยเพียงพอที่จะมีกิจกรรมทางหน้าที่การงานและทางสังคมได้ตามปกติ
เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยวัณโรคได้แล้ว แพทย์หรือผู้ช่วยจะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวให้กับผู้ป่วยและญาติ โดยมีใจความหลักที่สำคัญ คือ
- รับประทานยารักษาวัณโรคที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอตามกำหนด เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่ต้องใช้ยาในการรักษาในระยะแรกถึง 4 ชนิด และต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน 6 เดือน ถ้าหากรักษาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ครบกำหนด จะทำให้การรักษาไม่ได้ผลหายขาดหรืออาจหายแต่กลับเป็นซ้ำใหม่เร็ว และที่สำคัญคือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งมีโอกาสรักษาได้ผลน้อยลง
- แพทย์จะสั่งให้รับประทานยาวันละครั้งส่วนใหญ่คือก่อนนอน ห้ามแบ่งยาเป็นหลายเวลาตามมื้ออาหารเพราะจะทำให้ระดับยาในการรักษาไม่ดี
- หลังรับประทานยาไปแล้วหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือ ผื่นคัน เล็กน้อย ให้ติดตามผลข้างเคียงนี้ใกล้ชิดต่อไป ถ้ามีอาการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ให้หยุดยาทั้งหมดแล้วรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่หลังรับประทานยาไปแล้วมีการมองเห็นผิดปกติก็ให้รีบหยุดยาทันทีเช่นกัน
- งดการดื่มสุราและหลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นที่ไม่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบจากยารักษาวัณโรคและผลข้างเคียงอื่น
- ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปากและจมูกขณะไอหรือจาม ถ้ามีเสมหะให้รวบรวมใส่ในขวดหรือถุงที่ปิดมิดชิด แล้วรวบรวมทิ้งในท่อระบายน้ำหรือถังขยะ
- รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามสมควร เพื่อให้ร่างกายฟื้นจากโรคได้เร็ว
- ให้นำสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ร่วมอาศัยทุกคน รวมถึงเพื่อนร่วมงานใกล้ชิด มาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองผู้สัมผัสโรคเพื่อให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
ภายหลังการรักษา อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้เร็วภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อรักษาครบ 2 เดือน แพทย์จะตรวจเสมหะซ้ำหรือเอกซเรย์ปอดซ้ำในกรณีที่ก่อนรักษาตรวจไม่พบเชื้อในเสมหะ ถ้ามีการตอบสนองที่ดีก็จะลดยาลงเหลือ 2 ชนิดและให้การรักษาต่อไปอีก 4 เดือนจนครบกำหนดการรักษาทั้งหมดคือ 6 เดือน
ทำอย่างไรจึงจะควบคุมสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยให้ได้ผล
หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ขึ้นทะเบียนผู้ป่วย ให้การรักษาและติดตามผลจนครบกำหนด รวบรวมประเมินผลการรักษา และติดตามสถานการณ์โยรวมของทั้งประเทศ ปัจจุบันนี้อัตราการรักษาวัณโรคจนครบกำหนดของผู้ป่วยในประเทศไทยยังคงอยู่ที่แค่ร้อยละ 70 ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายคือร้อยละ 85 ที่เป็นจุดตัดสินว่าสถานการณ์วัณโรคของประเทศนั้นๆ ควบคุมได้ กลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้ช่วยส่งเสริมให้การรักษาเป็นไปตามแผนคือ การให้ผู้ป่วยรับประทานยาภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครหรือผู้นำในชุมชน หรือสมาชิกในครอบครัว (directly observed therapy, DOT) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในด้านของสมาชิกของสังคมแวดล้อมผู้ป่วย จะต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัณโรค โดยต้องเข้าใจว่าปัจจุบันโรคนี้ไม่ได้น่ารังเกียจตามความเชื่อเดิม ถ้ามีการป้องกันที่เหมาะสมโรคก็จะติดต่อไปคนอื่นได้ยาก การรักษาก็ได้ผลดี ไม่ยุ่งยาก และราคาไม่แพง กรณีของผู้ที่เป็นนายจ้างหรือเจ้าของกิจการ ควรให้ผู้ใต้ความดูแลที่เกิดเป็นวัณโรค ได้มีโอกาสหยุดพักตามสมควรและไปรับการรักษาสม่ำเสมอตามกำหนดของแพทย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มผลิตของหน่วยงานและประเทศได้อย่างดีต่อไป
เรียนรู้วัณโรค
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล