ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วัยเกษียณ อยู่ยังไง - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

วัยเกษียณ อยู่ยังไง - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ Thumb HealthServ.net
วัยเกษียณ อยู่ยังไง - นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ThumbMobile HealthServ.net

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เปิดคำแนะนำ 9 ข้อสำหรับวัยเกษียณ เพื่อการอยู่มีสุขสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่



 - วัยเกษียณ อยู่ยังไง -


1. จัดเวลาเพื่อตัวเองวันละ 1-2 ชั่วโมง ทุกวัน ตอนเช้าหลังตื่นนอนใหม่ๆดีที่สุด เพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ ข้อนี้สำคัญที่สุด ถ้าคุณทำข้อนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปอ่านข้ออื่น เพราะถ้าคุณทำข้อนี้ไม่ได้แสดงว่าคุณเป็นทาสความคิดของคุณเองจนโงหัวไม่ขึ้นกู่ไม่กลับไปเสียแล้ว เพราะลูกเล่นที่ความคิดของคุณจะใช้กีดกันไม่ให้คุณเข้าถึงความรู้ตัวก็คือการพยายามบอกว่าคุณไม่ว่าง คุณไม่มีเวลา แม้คุณเกษียณแล้วความคิดมันยังพร่ำบอกคุณว่าคุณไม่มีเวลา ถ้าทั้งๆที่คุณได้เวลามาวันละ 8 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 5 วันแล้วคุณยังเชื่อความคิดของคุณอยู่อีกว่าคุณไม่มีเวลา ผมก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว เพราะคุณได้ตกเป็นทาสความคิดของคุณโดยสมบูรณ์แบบเสียแล้ว 
อนึ่ง ในการออกกำลังกาย ถ้าเบื่ออย่างหนึ่งคุณก็เปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่ง เปลี่ยนจนคุณพบวิธีที่ถูกใจทำแล้วสนุก


2. เมื่อฝึกสมาธิ ให้มุ่งวางความคิด นอกจากวางความคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้แล้ว ให้วางความเป็นบุคคลว่าตัวฉันชื่อนี้อยู่บ้านเลขที่นี้จบเมืองนอกเมืองนามาอย่างนั้นอย่างนี้ วางไว้ก่อน วางความเป็นเจ้าของร่างกายนี้ว่านี่มันเป็นร่างกายของฉัน วางไว้ก่อน วางให้หมดชั่วคราว ให้เหลือแต่ความรู้ตัวที่เป็นความว่างแต่ตื่นอยู่และพร้อมรับรู้ อย่าหวังพบเห็นหรือบรรลุอะไรจากการฝึกนั่งสมาธิเป็นอันขาด เพราะนั่นคือช่องทางไปสู่ความบ้า แค่ให้จิตใจได้สงัดจากความคิดจนความเบิกบานที่ก้นบึ้งของจิตมีโอกาสได้โผล่ขึ้นมาบ้างก็พอแล้ว


3. ยอมรับ ยอมแพ้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตรงหน้า (surrender) ยอมรับทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น แยกความรู้ตัวซึ่งเป็นผู้ดู ออกจากสถานะการณ์ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกดู ความได้เปรียบของคนแก่ก็คือไม่ต้องรู้สึกผิดว่าตัวเองละเลยสังคม เพราะใจมันยอมรับข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าเดี๋ยวตัวเองก็จะตายแล้ว อย่าผูกขาดการแก้ปัญหาไว้คนเดียวเลย ทิ้งปัญหาไว้ให้เด็กรุ่นหลังเขาแก้กันเองบ้างเถอะ การปลดทิ้งความรู้สึกผิดแบบนี้เสียได้เป็นการเพิ่มโอกาสที่ใจจะยอมรับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่มากขึ้น โอกาสบรรลุอิสรภาพทางใจก็มากขึ้น


4. เมื่อมีปัญหาระดับจะเป็นจะตายเกิดขึ้น..อย่าคิด หายใจเข้าออกลึกๆ กลับไปสู่ความรู้ตัวอย่างน้อยสักสองสามนาทีก่อน อย่ารีบตัดสินใจหรือลงมือทำอะไร ปล่อยปัญหาทุกอย่างให้คลี่คลายตัวมันไปเอง เฝ้าดูอยู่นิ่งๆ อย่ายึกยัก อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แค่คอยรับมือเฉพาะส่วนเล็กๆเฉพาะหน้าที่แก้ไขได้ไปทีละช็อตๆ เรื่องใหญ่ๆที่แก้ไขไม่ได้ปล่อยไว้รอให้พระพรหมมาจัดการเอง มาถึงวัยนี้แล้วควรจะเรียนรู้ได้แล้วว่าปัญหาทุกอย่างมันมีวิธีคลี่คลายตัวของมันเอง ไม่มีใครไปยุ่งมันก็จะคลี่คลายตัวของมันเอง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยเป็นกลไกที่จะคลี่คลายตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเป็นคนแก่แบกโลกหรือคนแก่ที่พยายามเข้าไปแก้ทุกปัญหา มิฉะนั้นคุณจะกลายเป็นคนแก่เจ้าปัญหาไปโดยไม่รู้ตัว 
 
 


5. ปล่อยวาง ที่ว่าปล่อยวางนั้นนะ ปล่อยวางอะไรหรือ "ความคิด" นั่นแหละคือสิ่งที่จะต้องปล่อยวาง เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์ นอกจากความคิดของตัวเองแล้ว..อย่างอื่นไม่มี เกษียณแล้วยิ่งคิดให้น้อยยิ่งดี ยิ่งเบิกบานมากยิ่งดี ตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิตวัยเกษียณมีสองตัวเท่านั้น คือ (1) ความคิดน้อยลง (2) ความเบิกบานมากขึ้น


6. ลดความคาดหวังในตัวคนอื่นลงจนเหลือศูนย์ รวมทั้งความคาดหวังต่อสามีหรือภรรยาหรือลูกหลานด้วย คนสูงอายุมักอดไม่ได้ที่จะมองเห็นคนอื่นเป็นคนโง่ง่าวไม่เอาไหนกิเลสหนากะโหลกกะลาไปหมด เกษียณแล้วให้เปลี่ยนโลกทัศน์ไปมองคนอย่างไม่พิพากษาบ้าง ลองหัดเทคนิคนี้กับหมากับแมวดูก่อนก็ได้ มองมันอย่างไม่พิพากษา อย่าไปเสียเวลาทะเลาะด่าว่าคนอื่น จงให้อภัยแทน คนที่สอนได้ก็สอน คนที่สอนไม่ได้ก็ปล่อยเขาไปตามยถากรรมของเขา


7. อย่าไปหวังอะไรกับชีวิตที่เหลือ ในเรื่องนี้ผมอาจจะพูดไม่เหมือนคนอื่นนะเพราะผมพูดจากประสบการณ์ของผมเอง ผมมองว่า "ความหวัง" นี่แหละที่เป็นตัวร้าย มันร้ายพอๆกับ "ความกลัว" เลยทีเดียว เพราะทั้งความหวังและความกลัวมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกัน คือมันคอยลากเราหนีหรือลี้ภัยออกไปจากปัจจุบันไปอยู่กับอนาคตซึ่งเป็นเพียงความคิด ทำให้เราหมดโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นวิธีใช้ชีวิตที่ดีที่สุด ชีวิตที่ดีคือชีวิต ณ ปัจจุบัน วันนี้ ทีละขณะๆ อยู่นิ่งๆ ปล่อยทุกอย่างให้เข้ามาหา ยอมรับมัน ไม่ต้องหนี มาร้าย มาดี ยอมรับหมด มันมาแล้วก็รับมือไปทีละช็อต การกระเสือกกระสนแสวงหาหลักประกันอนาคต เช่นเพิ่มวงเงินประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ขยันตระเวณหาหมอ ห้าหมอ เจ็ดหมอ ขยันกินยากินวิตามินทีละกำมือ เป็นการแสดงออกของความกลัวที่พาเราหนีไปจากปัจจุบัน ซึ่งวิธีนี้ไม่มีวันที่จะทำให้เรามีสุขภาพดีได้ เพราะสุขภาพจะดีก็ต่อเมื่อเราได้ใช้ชีวิตในวันนี้อย่างเบิกบาน ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบอยู่กับความหวาดกลัวและเอาแต่หนี


8. หมั่นให้ทาน สละทรัพย์ แบ่งปันให้ผู้อื่น ลูกหลานจะว่าคุณเป็นคนแก่เลอะหลงใช้เงินไม่เป็นก็อย่าไปสนใจ เงินของคุณไม่ใ่ช่เงินของพวกเขา ถ้าพวกเขาอยากอดออมให้พวกเขาอดออมของเขาเอง อย่ามาบังคับให้คุณอดออมแต่พวกเขาจ่ายเงิน อย่าหวงเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน เพราะการหวงเงินไว้ให้ลูกหลานก็คือการหวงเงินไว้ให้อีโก้หรือตัวตนของคุณเองนั่นแหละ มันจะส่งผลให้คุณกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไปไหนไม่รอดโดยไม่ทันรู้ตัว การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ดีหากวางแผนและทำตามแผนโดยไม่คิดกังวลต่อยอด แต่การบ่มเพาะความกังวลว่าวันหน้าจะมีเงินไม่พอใช้จะทำให้คุณต้องอยู่กับความกังวลนั้นตลอดไปจนตายไม่ว่าคุณจะมีเงินกี่แสนกี่ล้าน เพราะวันหน้ามันไม่มีอยู่จริงดอก แต่ความกังวลและหวงทรัพย์สมบัติมันมีผลลบต่อคุณในวันนี้แล้ว ผมจึงเชียร์ให้คุณขยันสละทรัพย์โดยไม่หวังอะไรกลับมา ทุกครั้งที่คุณสละทรัพย์ ความยึดถือในทรัพย์สมบัติของคุณจะลดลงไป ความพร้อมที่จะตายของคุณจะค่อยๆเพิ่มขึ้น


9. เมื่อคิดจะทำอะไร ให้คิดทำเพื่อผู้อื่น หรือเพื่อโลก ไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจ ทำงานอดิเรก หรือทำงานจิตอาสา ให้คิดว่าทำเพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ จะปลูกดอกไม้ก็เพื่อให้คนอื่นได้มาชื่นตาชื่นใจ จงใจเลือกทำเฉพาะเรื่องที่คุณทำแล้วมีความสุข เวลาทำให้ทำด้วยความตั้งใจจดจ่อราวกับเจ้าสาวตั้งใจทอเสื้อให้ชายคนรักใส่ แต่อย่าหวังผลว่าจะสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่องานเสร็จแล้วก็วาง ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวก็วาง ไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงาน ไม่ต้องแสวงหาชื่อเสียงยามแก่ เพราะชื่อเสียงเป็นอีโก้ที่จะทำให้คุณเข้าถึงความรู้ตัวอันเป็นแหล่งของความสงบสุขที่ภายในยากยิ่งขึ้น
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด