กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาที่สำคัญโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม คู่ที่ 21 ลักษณะของเด็กกลุ่มนี้ประกอบด้วยกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ตาเฉียงขึ้น จมูกแบน และที่สำคัญคือมีภาวะบกพร่องของพัฒนาการและสติปัญญา
อุบัติการณ์กลุ่มอาการดาวน์จากทั่วโลกอยู่ระหว่าง 1 ต่อ เด็กเกิดใหม่ 1,000 -1,100 คน ในประเทศไทยพบว่ามีเด็กเกิดปีละ 800,000 คน จะมีอุบัติการณ์พบเด็กกลุ่มอาการดาวน์รายใหม่ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 800 - 1,000 คน
การส่งเสริมพัฒนาการที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
เด็กกลุ่มอาการดาวน์ช่วงอายุแรกเกิด - 5 ปี สามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ จากการที่ผู้ปกครองนำมารับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุน้อย ๆ (ไม่เกินขวบปีแรก) ร่วมกับการที่ผู้ปกครอง มีความรู้ในการดูแลสุขภาพและให้ส่งเสริมพัฒนาการลูกเองได้ที่บ้านอย่างต่อเนื่อง
การส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กกลุ่มอาการดาวน์ คือ โปรแกรมที่มีการจัดการกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับพัฒนาการของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ และส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยมากที่สุด เช่น มีการส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ โดยการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ การส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการแก้ไขปัญหาการดูด เคี้ยว ส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสาร และฝึกการช่วยเหลือตนเองที่จำเป็นตามวัยโดยทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กกลุ่มอาการดาวน์
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่เมื่อพบว่าลูกน้อยเป็นดาวน์ซินโดรม
1. ศึกษาข้อมูลของโรค หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษตัวเองและคู่สมรสว่าเป็นสาเหตุ
2. พ่อแม่และคนอื่น ๆ ในครอบครัวควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก คือกำลังใจที่จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีได้
3. เด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการเป็นขั้นตอน เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เช่น ชันคอก่อนแล้วจึงนั่ง คลาน ยืน เดิน เป็นต้น แต่มักมีความล่าช้าในพัฒนาการ ทำให้เด็กต้องใช้เวลาในการพัฒนาแต่ละขั้นตอนมากกว่าเด็กทั่วไป พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ โดยการให้เด็กช่วยเหลือตนเองให้เต็มศักยภาพในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กสามารถไปเรียนและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
4. การส่งเสริมพัฒนาการโดยทีมสหวิชาชีพ
- พบทันตแพทย์ เพื่อรับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุ 6 เดือน
- พบนักกิจกรรมบำบัด เพื่อส่งเสริมเรื่องการเตรียมกล้ามเนื้อช่องปากให้มีความพร้อมต่อการดูด เคี้ยว ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป
- พบนักกายภาพ เพื่อดูแลเรื่องปัญหากล้ามเนื้อมัดใหญ่การเคลื่อนไหว ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป โดยไม่ต้องรอให้มีปัญหาการเดิน การเคลื่อนไหว
- พบนักแก้ไขการพูด เพื่อส่งเสริมเรื่องการสื่อสารเมื่อเด็กกลุ่มอาการดาวน์อายุ 1 ขวบครึ่ง
5. การดูแลเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น
- สอนให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ และพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำต่อเพศตรงข้าม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นยั่วยุอารมณ์ทางเพศ
- ปรึกษาสูตินารีแพทย์ เพื่อแนะนำการคุมกำเนิดและการทำหมัน เนื่องจากในกลุ่มอาการดาวน์เพศหญิงมีโอกาสให้กำเนิดบุตรที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ได้ถึงร้อยละ 50