ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วัคซีนในวัยรุ่น

วัคซีนในวัยรุ่น

 วัคซีนในวัยรุ่น
 
การฉีดวัคซีนนั้นหลายคนอาจจะเข้าใจว่ามีเฉพาะในเด็กเล็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ววัยรุ่นก็เป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อหลายชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดการระบาดตามมา ในที่นี้จะขอแนะนำวัคซีนสำคัญสำหรับวัยรุ่น ดังนี้
 
 
วัคซีนเอชพีวี (Human papillomavirus vaccine, HPV) ผู้ชายฉีดได้หรือไม่?
วัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในวัยรุ่นทั้งหญิงและชายที่อายุ 9-26 ปี ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนให้เลือกใช้ 2 ชนิด คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ (สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 16, 18) ใช้ได้เฉพาะในผู้หญิงและชนิด 4 สายพันธุ์ (สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 16, 18 และป้องกันหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 6, 11) ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม เข็มที่ 1 ฉีดทันที, เข็มที่ 2 ฉีดหลังจากเข็มแรก 1-2 เดือนและเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน แนะนำให้ฉีดในหญิงและชายที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ อายุ 9 ถึง 26 ปี จะได้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสูงที่สุด โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุขจะให้ฉีดในเด็กผู้หญิงชั้นป.5 โดยหากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี สามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
 
 
วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Tetanus-diphtheria-acellular pertussis, Tdap) หรือโรคคอตีบ-บาดทะยัก (Tetanus-diphtheria, Td) เคยฉีดตอนเป็นเด็กแล้วต้องฉีดอีกหรือไม่? 
วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเป็นวัคซีนที่เด็กๆ จะได้รับตั้งแต่อายุ 2 เดือนจนถึง 6 ปี มาแล้ว 5 เข็ม ในวัยรุ่นพบว่ามีอัตราการเกิดโรคไอกรนสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลของการลดลงของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนตั้งแต่ในวัยเด็ก ดังนั้นการให้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนในวัยรุ่นเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคเพียงพอ และลดการแพร่เชื้อสู่เด็กเล็กซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคจะมีอัตราตายสูง โดยต้องมีการกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 11-12 ปี โดยให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ชนิดสูตรสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ (Tdap) ในวัยรุ่น 1 ครั้งแทนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (Td) หลังจากนั้นควรจะได้รับการฉีด วัคซีน Td กระตุ้นทุก 10 ปีและแนะนำให้วัคซีน Tdap ในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ทุกๆการตั้งครรภ์เพื่อให้ภูมิคุ้มกันผ่านรกไปสู่บุตรป้องกันการติดเชื้อไอกรนในทารก
 
 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ต้องฉีดทุกปีไหม?
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า เชื้อสามารถแพร่กระจายจากผู้ที่ติดเชื้อไปยังผู้อื่นได้ผ่านทางละอองฝอยจากการไอจามรดกัน ทําให้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจในบางรายจะมีอาการรุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนจึงมีความสำคัญ โดยปัจจุบันวัคซีนมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์โดยในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปสามารถเลือกฉีดได้ปีละ 1 ครั้งเพราะแต่ละปีสายพันธุ์จะเปลี่ยนไป โดยฉีดได้ตลอดทั้งปี จะเลือกใช้สายพันธุ์ขั้วโลกเหนือหรือใต้ก็ได้ แต่แนะนำให้ฉีดในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเนื่องจากพบการระบาดได้มากกว่า 
 
 
วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ถ้าเคยเป็นแล้วต้องฉีดหรือไม่?
โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (VZV) ซึ่งสามารถติดต่อ และแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้อย่างรวดเร็ว สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดบวม จนถึงเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมักมีอาการรุนแรงในวัยรุ่น โดยเฉพาะถ้าเป็นในระหว่างการตั้งครรภ์ก็จะมีโอกาสก่อให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในทารกได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการให้วัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากเข็มแรกสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี และห่างกันอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากเข็มแรกสำหรับผู้ที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นอีกเพราะจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ตลอดชีวิต
 
 
วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles – Mumps – Rubella Vaccine, MMR) สำคัญอย่างไรในหญิงตั้งครรภ์?
โรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม  สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ง่าย ปัจจุบันพบการระบาดของโรคหัดมากขึ้นในประเทศไทยเนื่องจากมีผู้ละเลยไม่รับวัคซีน ในขณะที่วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อโรคหัดเยอรมันทารกที่เกิดมาอาจพบความพิการแต่กำเนิด ได้แก่ อาการหูหนวก ต้อกระจก หัวใจพิการ รวมทั้งความผิดปกติของระบบประสาทรวมถึงสติปัญญาด้วยได้ โดยวัคซีนนี้อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กของกระทรวงสาธารณสุข ในวัยรุ่นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนควรได้รับการฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่หากเคยได้รับมาแล้ว 1 เข็มควรฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด