นอกจากนี้ กรดนี้อาจไหลย้อนผ่านหลอดอาหารเข้าสู่หลอดคอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux : LPR) เกิดพยาธิสภาพต่าง ๆ เพราะเยื่อบุกล่องเสียง และหลอดคอบอบบางทนสภาวะกรดได้ไม่ดี รวมทั้งอาจก่อปัญหาด้านระบบการหายใจและปอด ปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่าง เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการไหลย้อนกลับ ของกรดหรือน้ำย่อยจากหลอดอาหารภาวะนี้เกิดได้ตลอดเวลา และไม่ว่ากำลังรับประทานอาหารหรือไม่ก็ตามพบอาการนี้ได้ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้ใหญ่
อาการทางคอและหลอดอาหาร
- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
- กลืนลำบาก ติดขัด คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ หรือกลืนแล้วเจ็บ
- เจ็บคอ หรือ แสบปาก หรือเจ็บเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
- รู้สึกมีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือ ระคายคอตลอดเวลา
- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ
- อาการปวดแสบปวดร้อน บริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ (Heartburn) บางครั้งร้าวไปถึงบริเวณคอ และไหล่
- รู้สึกจุดแน่นในคอ หรือ หน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)
- มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ
อาการทางกล่องเสียงและปอด
- เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า มีเสียงผิดไปจากเดิม
- ไอเรื้อรัง, ไอ หรือรู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน จนอาจทำให้ต้องตื่นกลางดึก
- กระแอม ไอบ่อย ๆ
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่(ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา
- เจ็บหน้าอก (non-cardiac chest pain)
- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ
อาการที่กล่าวข้างต้น อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นตลอดให้ปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก ซึ่งแพทย์จะตรวจทาง หู คอ จมูก เพื่อดูว่ามีความผิดปกติบริเวณกล่องเสียง และคอหรือไม่ เพื่อแนะนำการรักษาและปฏิบัติตัวต่อไป
ภาวะกรดไหลย้อนรักษาอย่างไร ขึ้นอยู่กับอาการ และสุขภาพของแต่ละคน โดยทั่วไปหลักการรักษามี 3 ประการ
- ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย และงดเว้นอาหารบางอย่างเพื่อลดภาวะกรดไหลย้อน
- การใช้ยาลดกรดที่ถูกต้อง มักจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ร่วมกับปฏิบัติในข้อ 1.
- การผ่าตัดรัดหูรูดกระเพาะอาหาร จำทำให้รายที่เป็นรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยา
เทคนิคในการลดภาวะกรดไหลย้อน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษา เพื่อให้อาการหายขาด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค โดยปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่ม ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารทอด อาหารรสจัด อาหารมัน ๆ ช็อคโกแลต ผักผลไม้บางชนิด เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว สะระแหน่ หอมหัวใหญ่ ถั่ว นม (ดื่มนมพร่องมันเนยได้)
- ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ โดยเฉพาะช่วงเย็น
- อย่านอนราบหลังจากเพิ่มรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 3 ชั่วโมงแรก
- อย่าใส่เสื้อผ้าคับโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
- หมุนหัวเตียงให้สูง อย่างน้อย 6 นิ้ว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าเครียด
- ทำจิตใจให้สบาย แจ่มใส
ช่วงระยะเวลาของการรักษา
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องรักษาค่อนข้างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 6 อาทิตย์ ถึง 6 เดือน บางคนอาการจะหายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจหยุดยาได้หลายเดือน หรือหลายปี ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนนิสัยหรือสภาพแวดล้อม พยาธิสภาพของแต่ละบุคคล และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า โรคนี้อาจหายขาดไปเลย หรืออาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก
***ถ้าท่านมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นภาวะกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ โปรดปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก