โรคกระเพาะอาหารที่เรียกกันแพร่หลายจนติดปากนั้น โรคแผลเปปติค (Peptic Ulcer) เป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหารหรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร 80% ของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็น ๆ หาย ๆ คือหลังจากการรักษาแผลให้หายแล้ว ก็มักจะกลับมาเป็นแผลอีกอยู่เรื่อย ๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในอดีตมีความเชื่อว่าโรคกระเพาะอาหารมีผลมาจากการที่กระเพราะอาหารมีกรดมากหรือเยื่อบุกระเพาะอาหารมีสาเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากการ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช. ไพโลไร เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร แบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร โดยปกติแล้วกระเพาะอาหารจะมีสภาพที่เป็นกรดอย่างแรงซึ่งจะทำหน้าที่ทำลายแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เนื่องจากเชื้อ เอช. ไพโลไร จะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ คือ สามารถสร้างด่างมาหักล้างกับกรดได้ ทำให้เชื้อนี้สามารถอยู่และเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดอย่างแรงในกระเพาะอาหารได้ เชื้อแบคทีเรีย เอช. ไพโลไร เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น และปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ทีการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร จะมีโอกาสเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเพิ่มขึ้น 6-40 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติที่ไม่มีการติดเชื้อ อาการของโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่มีประวัติเป็นเรื้อรังมานาน โดยสุขภาพทั่วไปไม่ทรุดโทรม บางรายมีอาการจุก เสียด แน่น เจ็บแสบหรือร้อน อาการจะสัมพันธ์กับการกิน หรือชนิดของอาหาร เช่น อาจปวดมากตอนหิว หลังอาหาร อาการจะทุเลา แต่ผู้ป่วยบางคนอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น บางรายอาจมีอาการปวดท้องตอนกลางคืน จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ในปัจจุบันการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร จะทำโดยวิธีการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารแล้วตัดเนื้อเยื่อบุกระเพาะมาตรวจหาเชื้อโดยเทคนิคต่าง ๆ เช่นวิธีการทางพยาธิวิทยา หรือดูการเปลี่ยนสีของชุดตรวจพิเศษเพื่อหาเชื้อ เอช. ไพโลไร นอกจากวิธีส่องกล้องแล้ว ก็ยังมีวิธีการเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ, วิธีการตรวจลมหายใจ ซึ่งปัจจุบันถือว่า เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ เอช. ไอโพโลไร ที่ดีที่สุด แต่ราคาค่อนข้างแพง และยังไมแพร่หลายทั่วไป เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ติดต่อกันได้อย่างไร สันนิษฐานกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดของเชื้อจากคนสู่คนโดยผ่านทางปาก เข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความชุกขอลการติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้น พบว่าการระบาดค่อนข้างสูงในชุมชนที่อยู่แออัดและในครอบครัวหรือสถาบันเดียวกัน การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ เอช. ไพโลไร ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเพิ่งเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นครั้งแรกหรือเคยเป็น ๆ หาย ๆ การรักษาที่นิยมใช้กันมาก และมีประสิทธิภาพสูงประกอบด้วย การใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิด ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา1-2 สัปดาห์ พบว่าได้ผลการกำจัดเชื้อมากกว่า 90% ข้อบ่งชี้ว่ากำจัดเชื้อ คือ การตรวจไม่พบเชื้อ เอช. ไพโลไร เมื่อ 4 สัปดาห์หลังจากหยุดรักษา ข้อควรปฏิบัติ • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย • กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ • กินอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่บ่อย ไม่ควรกินจนอิ่มในแต่ละมื้อ • หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม • งดบุหรี่ และงดดื่มสุรา • งดการใช้ยาแอสไพริน และยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก ทุกชนิด (NSAID) • ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ • ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด, ถ่ายอุจจาระดำ, ปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปหาแพทย์ พญ.ดวงพร โชคมงคลกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร